เกาะติด COP28 ลดอุณภูมิโลกเดือด “ไทยกำลังทำอะไร”

เกาะติด COP28 ลดอุณภูมิโลกเดือด “ไทยกำลังทำอะไร”


การประชุม COP28 วาระกู้โลก กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ย.นี้ที่ดูไบ ยูเออี หลายฝ่ายเชื่อว่าโลกน่าจะมีความหวังมากขึ้น ย้อนดูสาระสำคัญจากการประชุมปีที่แล้ว และติดตามบทบาทของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ “ไทยกำลังทำอะไรรับเวที COP28”

 

 

รู้จักบทบาทของ COP

COP (Conference of Parties) การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งเป็นเวทีเจรจาระดับโลกว่าด้วยวิกฤตโลกร้อน ที่ดำเนินสืบเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ

COP เป็นเวทีที่รัฐภาคีสมาชิกมารวมตัวกันทุกปี ทั้งประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ไปจนถึงประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ มาเจรจาตกลงในความร่วมมือต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก แม้ที่ผ่านมาไม่ได้หมายความว่าการเสนอแนวทางในทุกประเด็นจะได้รับความเห็นชอบ เพราะย่อมมีประเทศที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงต่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะ อย่างไรก็ตามการประชุม COP ก็เป็นเวทีเดียวที่ทั่วโลกมาตกลงกันในเรื่องนี้

ย้อนสาระสำคัญของการประชุม COP27

การประชุม COP ล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา หรือ COP27
ก่อนหน้าการประชุม คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergoveernmental Panel on Climate IPCC) ออกรายงานการประเมินว่าด้วยผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ระบุชัดเจนว่า วิกฤตสภาพภูมิได้ทำลายชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน และวัฒนธรรมทั่วโลก ในระดับที่รวดเร็วและรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปสาระการประชุม COP27 หลายประเด็นก็ได้สร้างความหวังให้กับโลกใบนี้ อาทิ

-เน้นย้ำถึงการทำตามคำสัญญารัฐภาคีให้ไว้เมื่อ COP26 ว่าต้องระดมเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศยากจนใช้ปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันจากผลกระทบโลกร้อน และเพิ่มกองทุนเพื่อการปรับตัวเป็นสองเท่าภายในปี 2568

-เน้นย้ำเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์ (Glasgow Climate Pact) เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต้นตอของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

-เน้นย้ำถึงความพยายามในทุกระดับ เพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิทั่วโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภายในปี 2643

-กลุ่มประเทศขนาดเล็ก อาทิ คิริบาตี รวันดา มาลาวี กาบูเวร์ดี ซูรินามี บาร์เบโดส และปาเลา เรียกร้องให้เพิ่มเงินทุนสำหรับชดเชยความเสียหายจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ร่ำรวย

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายมีข้อตกลงที่เรียกร้องให้เงินทุนที่ชดเชยมาจากแหล่งกองทุนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย รวมถึงสถาบันการเงิน แทนที่จะพึ่งพาประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่ก็คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะก่อตั้งกองทุนได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ยังมีไฮไลท์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการประชุมสุดยอด COP27 อื่น ๆ อาทิ

-สหประชาชาติได้ประกาศ “แผนระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก” มูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2566 ถึง 2570 หลังพบว่าประชากรในแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง รวมถึงผู้อาศัยอยู่ในหมู่เกาะขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางภูมิอากาศมากถึง 15 เท่า

-Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ ได้รับการสนับสนุนจากเลขาธิการสหประชาชาติ นำเสนอบัญชีรายการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จัดทำโดย Climate TRACE Coalition ซึ่งรวมข้อมูลดาวเทียมและใช้ปัญญาประดิษฐ์ แสดงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโรงงานกว่า 70,000 แห่งทั่วโลก

-ประธานาธิบดีอียิปต์ ได้นำเสนอแผนแม่บทเพื่อเร่งการลดคาร์บอนจาก 5 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคพลังงาน การขนส่งทางถนน เหล็ก ไฮโดรเจน และการเกษตร

-ผู้นำอียิปต์ประกาศเปิดตัวโครงการริเริ่มด้านอาหารและการเกษตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (Food and Agriculture for Sustainable Transformation initiative : FAST) เพื่อปรับปรุงปริมาณและคุณภาพของการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรและอาหารภายในปี 2573

COP28 กับบทบาทของไทยและอาเซียน

สำหรับการประชุม COP ครั้งต่อไปคือ COP28 จะมีขึ้นระหว่าง 30 พ.ย.-12 ธ.ค.ปีนี้ ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งก็เชื่อว่าจะมีความเข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เห็นได้จากข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการประชุม และรายงานผลกระทบจากภาวะโลกร้อนกำลังถูกอ้างถึงมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับความเคลื่อนไหวประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการประชุม COP28 มีความน่าสนใจเช่นกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า ที่ประชุมได้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุม COP28

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (ASEAN Action Plan on Invasive Alien Species: IAS) เพื่อยกระดับความร่วมมือในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่สำคัญ

ส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมแนวทางขับเคลื่อนประเทศในการร่วมลดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศโลกที่สำคัญ ได้แก่

การจัดทำแผนให้ระดับท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับแผนระดับประเทศ โดยสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่น ผ่านทางกองทุนสิ่งแวดล้อมระหว่างปี 2566-2567 รวม 90 ล้านบาท

การเร่งปรับแผนลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ทั้งสาขาพลังงาน สาขาขนส่ง และสาขาการเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนระดับประเทศ หรือ NDC ที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถึง 40% ภายในปี 2030

นอกจากนี้ยังมีแผนขับเคลื่อนนโยบายด้าน BCG ที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับเกษตรกรทั่วประเทศหลาย 10 ล้านคน โดยจากนี้ไปภาคการเกษตร จะต้องปรับตัวทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Thai Rice NAMA) หรือทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพยากรน้ำลดลง ใช้พลังงานสูบน้ำเข้านาลดลง เพิ่มผลผลิต 20-30% ลดปล่อยก๊าซมีเทน 70%

อีกทั้งยังมีแผนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน หรือ CCUS (Carbon Captue, Utilization Storage) มาใช้เชิงพาณิชย์ โดยภายในปี 2040 ที่จะต้องปรับปรุงระเบียบกฎหมาย คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม

การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม สิทธิประโยชน์ทางภาษี การส่งเสริมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ที่มีการออกระเบียบเรียบร้อยแล้ว

การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกต้นไม้ รวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในต้นปี 2023

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ประเทศไทยได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม(กรม Climate Change) แสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความตั้งใจ และความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อรับมือความท้าทายด้าน Climate Change อย่างเต็มรูปแบบ

อ้างอิง:

https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/climate/cop-conference/

สรุปประชุม COP27 อะไรคือประเด็นที่น่าจับตามอง เน้นย้ำ “ความสูญเสียและเสียหาย” จากภาวะโลกร้อน

https://www.thansettakij.com/pr-news/sustainable/zero-carbon/550986 (ข่าวประชาสัมพ้นธ์)