หนทางอีกยาวไกลของ“คนรุ่นใหม่” ปลดล็อก 3 มาตรา 3 เงื่อนไข แก้รัฐธรรมนูญ 60

หนทางอีกยาวไกลของ“คนรุ่นใหม่” ปลดล็อก 3 มาตรา 3 เงื่อนไข แก้รัฐธรรมนูญ 60


ข้อเรียกร้อง “ประชาชนปลดแอก” แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดวงจร สว. 250 คน กับคำตอบอยู่ที่ “เวลา” พันเกี่ยวกระบวนการปลดล็อก 3 ชั้น 

 

ก่อนที่การชุมนุมทางการเมืองบริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะสิ้นสุดลงเมื่อดึกของวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา แกนนำคณะประชาชนปลดแอก ได้อ่านแถลงการณ์จุดยืน โดยประกาศเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้รัฐบาลยกเลิกรัฐธรรมนูญใน มาตรา 2526 มาตรา 269 และมาตรา 272 เป้าหมายเพื่อตัด 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ออกจากการทำงานในรัฐสภา และขีดเส้นตายให้ทำภายในเดือนกันยายน โดยหากไม่มีการตอบสนองใดๆ จะยกระดับชุมนุมต่อไป

ขณะเดียวกัน เรื่องการลิดรอนสิทธิอำนาจของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในรัฐสภานั้น ไม่ได้ง่ายอย่างคิดที่ เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้ตรากฎหมายการให้อำนาจของ ส.ว. โดยมีล็อกที่จะต้องปลดถึง 3 ขั้นตอนด้วยกัน และหากจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชน และคนรุ่นใหม่ที่เริ่มแสดงออกและเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้ง มาตรา 256 ซึ่งให้อำนาจ ส.ว.ในการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ต่อด้วย มาตรา 269 และ มาตรา 272 จะต้องมีขั้นตอนการดำเนินการที่ซับซ้อนพอดู

สำหรับรายละเอียด มาตรา 256 มาตรา 269 และมาตรา 272 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีดังนี้

มาตรา 256 : กำหนดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไว้ทั้งหมดดังนี้ ผู้ที่สามารถยื่นญัตติหรือริเริ่มขอแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องเป็น
1. คณะรัฐมนตรี 2. ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (100 คน ขึ้นไป) 3. ส.ส.+ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา (ส.ส.+ ส.ว. 150 คนขึ้นไป) 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน

ญัตติแก้ไขเพิ่มต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่

วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา และกำหนดเงื่อนไขพิเศษให้ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ เสียง ส.ส.+ส.ว. ต้องไม่น้อยกว่า 375 เสียง และจะต้องเป็นเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 84 เสียง

วาระที่ 2 เป็นขั้นตอนการพิจารณาเรียงตามรายมาตรา ต้องมีเสียง ส.ส. + ส.ว. รวมกัน 375 เสียงขึ้นไป แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน เพื่อรอเข้าวาระที่ 3

วาระที่ 3 ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา คือ ส.ส.+ส.ว. ไม่น้อยกว่า 375 เสียง แต่มีเงื่อนไขพิเศษกำหนดให้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองที่กล่าวมารวมกัน

มาตรา 269 : ให้อำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน โดยคัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่ง คสช. เป็นผู้แต่งตั้งส่งให้จากจำนวนไม่เกิน 400 คน เหลือจำนวน 194 คน และคัดรายชื่อสำรองอีก 50 คน รวมกับ กลุ่มสว. ที่มาโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน ได้แก่ 1.ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3.ผู้บัญชาการทหารบก 4.ผู้บัญชาการทหารเรือ 5.ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ 6.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

และส่วนสุดท้าย มีที่มาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อเสนอให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 คน และคัดชื่อสำรองไว้อีก 50 คน ซึ่งจะได้ ส.ว.ครบ 250 คน

มาตรา 272: ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

“วิษณุ” รอข้อสรุปจาก กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ คาด ปลายเดือน ส.ค.รู้ผล
ก่อนหน้านี้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า ไม่ทราบรายละเอียดที่มีการยื่น เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายค้าน ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้มอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้

“การดำเนินการอาจต้องช่วยกันหลายคน แต่เบื้องต้นต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ) ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานก่อน โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนปลายเดือน ส.ค. นี้ ขณะที่กรอบระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีหากมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.นั้น คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี” วิษณุ กล่าว

“ชวน” บอกฝ่ายค้าน ยังไม่ยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ต้องใช้เวลา คาดจะทันสมัยประชุมนี้
ล่าสุด “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ว.เสนอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว. เพื่อหารือถึงการแก้รัฐธรรมนูญ และการหาทางออกความขัดแย้งประเทศร่วมกัน ว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อร่วมกัน เพื่อเสนอชื่อต่อประธานฯ ได้ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกในรัฐสภาเสนอชื่อมา และประธานรัฐสภาไม่สามารถเปิดการหารือเองได้

“การยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน เมื่อสภาฯ ได้ญัตติมาแล้ว ก็จะมีการตรวจเช็คความถูกต้องของญัตติ ก่อนจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ซึ่งคาดว่าจะทันการประชุมรัฐสภาสมัยนี้ และจะพิจารณาไปตามวาระ 3 วาระ ซึ่งแต่ละวาระมีขั้นตอนที่ยากพอสมควร” ประธานรัฐสภาฯ กล่าว

“พรเพชร” แจง ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้อง “ประชาชนปลดแอก” ได้ทัน ก.ย.นี้
ขณะที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอก ที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ว. 250 คน ภายในเดือนกันยายนนั้น ไม่สามารถทำได้ทันตามข้อเรียกร้อง เพราะมีกฎหมายที่เป็นขั้นตอนปฏิบัติ โดยจะต้องหารือกับ ส.ว. คนอื่นๆ ด้วย

“พรเพชร” ยอมรัวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน แต่ในมาตราสำคัญต้องฟังเสียงประชาชนและใช้เสียง ส.ว. ด้วย ดังนั้นขอให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้เข้าใจ

“ข้อเรียกร้องที่กล่าวมานั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องทำความเข้าใจกับน้องๆว่า บางครั้งเราก็อาจจะเข้าใจผิดบ้าง เช่น บ้านเรามีครอบครัว มีคนใช้ เราอยากให้เขาไป บางครั้งก็ไล่เขาไปไม่ได้ เพราะเขาก็มีสิทธิอะไรบางอย่าง” พรเพชร กล่าว

 

ข่าวที่น่าสนใจ