ส่องแผน ปลดล็อกดาวน์สถานประกอบการ ยัง “ปิดตาย” กลุ่มความเสี่ยงสูง

ส่องแผน ปลดล็อกดาวน์สถานประกอบการ ยัง “ปิดตาย” กลุ่มความเสี่ยงสูง


เปิดแผน ศบค. ภาคเอกชนเสนอ “ปลดล็อกดาวน์สถานประกอบการ” เน้นประเมินพื้นที่ เสี่ยงสูง ปานกลาง ต่ำ รวมทั้งความเสี่ยงของสถานประกอบการ โดยความเสี่ยงสูงยังไม่พิจารณาให้เปิด

วันที่ 27 เม.ย.63 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 หรือ ศบค. คาดว่าจะมีการพิจารณา ข้อเสนอปลดล็อกดาวน์ สถานประกอบการ ซึ่งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ศบค. เตรียมนำเสนอแผน “คู่มือเตรียมความพร้อมการเปิดสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์ COVID-19”

สำหรับมาตรการในคู่มือดังกล่าว ได้มีการนำเสนอการพิจารณา “ความเสี่ยง” ของ “สถานประกอบการ” และ “พื้นที่” รวมทั้งข้อปฏิบัติของสถานประกอบการที่จะต้องทำ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ของกระทรวงสาธารณสุข

เกณฑ์การพิจารณาแรก คือ “พื้นที่” แยกเป็นกลุ่มจังหัวดตามสถิติการแพร่ระบาด จากกลุ่มจังหวัดความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และความเสี่ยงสูง

ด้านเกณฑ์ของสถานประกอบการได้แยกเป็น 3 กลุ่ม เช่นกัน คือ กลุ่มความเสี่ยงต่ำ ปาน และสูง และในส่วนของสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงยังคงปิดให้บริการอยู่เช่นเดิม แม้จะตั้งอยู่ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ

ในส่วนของเกณฑ์การจัดกิจกรรม แบ่งออกเป็น 4 ข้อ คือ ความหนาแน่นของผู้คนที่มารวมกลุ่ม ระยะเวลาในการใช้ร่วมกัน กิจกรรมที่คนกระทำ และการระบายอากาศ

จากการจัดระดับความเสี่ยง ทำให้จำแนกแบ่งสถานประกอบการแต่ละกลุ่มที่สามารถเปิดได้ และบางประเภทไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ดังนี้

กลุ่มความเสี่ยงต่ำที่สุด เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก อยู่ที่โล่งแจ้ง มีกลักษณะเป็นหาบเร่ แผงลอย หรือไม่มีหน้าร้านเป็นหลักแหล่ง

กลุ่มความเสี่ยงต่ำ สถานประกอบการขนาดเล็ก ติดแอร์ หรือ ไม่ติดแอร์ ไม่มีการสัมผัสตัว เช่น ร้านขายหนังสือ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายของทั่วไป ร้านขายวัสดุก่อสร้าง สวนสาธารณะ สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกีฬา เช่น สนามเทนนิส

กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง จำแนกเป็น สถานที่รวมร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดอาหาร ฟู้ดเซ็นเตอร์ สถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าโมเดิร์นเทรด คอมมูนิตีมอลล์ เป็นต้น สถานประกอบการขนาดเล็ก ติดแอร์ มีการสัมผัสตัว เช่น ร้านทำตัดผม คลินิกความงาม คลินิกแพทย์ คลินิกทำฟัน สนามกีฬาบางประเภท มีพื้นที่ห่างกัน ที่มีการระบายอากาศ เช่น สนามแบดมินตัน สระว่ายน้ำ

กลุ่มความเสี่ยงสูง จำแนกเป็น สถานประกอบการขนาดเล็กติดแอร์ แต่มีการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ เช่น ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต สถานประกอบการที่อยู่ในห้องแอร์ แต่มีลักษณะผู้ใช้บริการต้องนั่งอยู่เป็นเวลานานๆ 1-2 ชั่วโมง เช่น โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพอื่นๆ ร้านนวด สถานประกอบการที่มีการชุมนุมผู้คนจำนวนมากและอยู่ในสถานที่ปิด เช่น ศูนย์แสดงสินค้า ศูนยป์ระชุม ห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ สถานประกอบการที่ชักนำให้มีการเคลื่อนที่ของคนข้ามพื้นที่ เช่น สถาบันกวดวิชา สถานประกอบการที่มีการชุมนุมจำนวนมากอยู่ในสถานที่เปิดแต่ชวนให้ส่งเสียงดังตะโกนเชียร์ เช่น สนามกีฬา และ สถานประกอบการที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เนื่องจากมีพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท มีกิจกรรมที่มีการส่งเสียง ตะโกน เชียร์ ผับ บาร์ ร้านคาราโอเกะ สนามมวย โรงสอนมวย สนามกีฬาในห้องแอร์

ในกลุ่มสุดท้าย ที่มีความเสี่ยงสูง จะไม่ได้รับการพิจารณาเปิดดำเนินการจนกว่าจะมีมาตรการหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่ามีความปลอดภัยจึงจะสามารถทบทวนให้สามารถเปิดบริการได้

สำหรับ 3 กลุ่มแรก คือ ความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง จะมีขั้นตอนการตรวจสอบและแนวการปฏิบัติว่าสามารถป้องกันการระบาดได้หรือไม่ ตั้งแต่อุปกรณ์การป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการป้องกัน และการติดตามตรวจสอบผู้ให้บริการ เป็นต้น ซึ่งในกิจการแต่ละประเภทจะมีแนวทางปฏิบัติต่างกัน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำคู่มือเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติด้วย

จะเห็นได้ว่า มาตรการที่ต้องปฏิบัติของสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้นนั้น คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งระบบการลงทะเบียนร้านค้า ระบบติดตามผู้ใช้บริการ และระบบการชำระเงิน นี่คือสิ่งที่จะเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจของประเทศไทย ให้ยกระดับในการใช้เทคโนโลยีไปอีกขั้นหนึ่ง คำถามคือความพร้อมของการใช้เทคโนโลยี ทั้งการติดตั้งระบบ ตัวของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ นี่คือสิ่งที่จะละเลยไปไม่ได้

โดยสรุป ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้รัฐบาลมีความพร้อมรับมือ และวางระบบพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือมันรวดเร็วเกิดไปหรือไม่ เมื่อไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจึงต้องรวดเร็วตาม แต่อย่าลืมว่าคนไทยจะมีความพร้อมในการรับมือเรื่องนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ