“ภัยแล้ง” เรื่องช้ำๆ ซ้ำเติมรัฐบาลต่อจากโควิด-19

“ภัยแล้ง” เรื่องช้ำๆ ซ้ำเติมรัฐบาลต่อจากโควิด-19


การจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังพิสูจน์การทำงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่ากับการแก้ไขสถานการณ์ในขณะนี้ไม่สู้ดีนัก ทำคะแนนความเชื่อมั่นของประชาชนหล่นหายระหว่างทางเรี่ยราด

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกปี ซึ่งรัฐบาลไม่เคยแก้โจทย์ได้โดนใจประชาชนเลย กำลังคืบคลานตามมาหลอกหลอนรัฐบาลอย่างเงียบๆ อย่าง “ภัยแล้ง “ ก็จ่อคอหอยเข้ามาเรื่อยๆอีกแล้ว

ภัยแล้งปีนี้ มาเร็วกว่าปกติ เพราะฝนเริ่มทิ้งช่วงตั้งแต่ ม.ค.63 เป็นต้นมา และคาดว่าจะยาวไปถึง พ.ค.63 แม้จะมีพายุฤดูร้อนในช่วงนี้ แต่เป็นช่วงสั้น และน้ำไม่ได้ไหลลงอ่างอย่างที่ควรจะเป็น

ข้อมูล(14 มี.ค.63) จากกรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบัน ปริมาตรน้ำในอ่างฯ มีอยู่ 38,006 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 54 (ปริมาตรน้ําใช้การได้ 14,654 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 31) โดยเมื่อเทียบกับปี 2562 (46,195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65) พบว่ามีน้อยกว่าถึง 8,189 ล้าน ลบ.ม.

โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯจํานวน 18.25 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำระบายจํานวน 95.57 ล้าน ลบ.ม. หรือน้ำระบายมากกว่าน้ำไหลลงอ่าง 77.32 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทั้งหมดทั่วประเทศ ไม่มีเขื่อนใดมีปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำเต็มอ่าง โดยมีเพียงเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 77.76 ของปริมาณน้ำเต็มอ่างเท่านั้น และน้ำใช้งานได้ เพียง 3,533.50 ลบ.ม. จากปริมาณน้ำในเขื่อน 13,798.50 ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ พบว่า มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 387.07 ลบ.ม. หรือร้อยละ 15.92 เท่านั้น โดยน้ำใช้งานได้เป็นลบ คือ -194.60 ลบ.ม. (ข้อมูล 15 มี.ค.63 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)

จากข้อมูลดังกล่าว ยืนยันว่าการเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ดูจะสาหัสสากรรจ์กว่าปีที่ 62 ผ่านมา (แล้งมากสุดในรอบ 30 ปี) โดยจากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.10-0.11 ของ GDP (เป็นกาประเมินก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 อย่างในปัจจุบัน)

 

ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 23 จังหวัด 139 อําเภอ 714 ตําบล 3 เทศบาล 6,065 หมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี โดยได้มีเร่งประสานทุกหน่วยงานระดมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน และขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

ด้านมาตรกาของรัฐ ที่เป็นผลงานเด่นชัด คือผลสรุปของการเจาะบ่อบาดาลเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง ปี 2562 ที่มีเป้าหมาย 1,894 บ่อ ดำเนินการเจาะแล้ว 530 บ่อ หรือ 28% ของแผน โดยตามแผนเจาะบ่อบาดาล แบ่งเป็นเจาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 737 บ่อ เจาะแล้ว 226 บ่อ หรือ 31%ของเป้าหมาย แผนเจาะบ่อบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค 338 บ่อ เจาะบ่อแล้ว 124 บ่อ หรือ 36% และแผนด้านการเกษตรจำนวน 399 บ่อ เจาะแล้วเสร็จ 102 บ่อ หรือเจาะแล้วเสร็จ 25%

สถานการณ์ของน้ำในเขื่อนวันนี้ มันสวนทางกับที่ นายกฯ ได้เคยกล่าวไว้ในสารถึงประชาชน เมื่อวันที่ 13 มี.ค.63 โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทำงานกันอย่างเต็มที่ …ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำมาแล้ว 5 ปี และจะสามารถเพิ่มการเก็บกักน้ำได้จำนวนมาก…”

วันนี้หากการแก้สถานการณ์โควิด-19 ยังคงไม่กระเตื้องขึ้น และพาลซ้ำให้รุนแรงกว่าเดิม รัฐบาลจะมีศักยภาพพอหรือไม่ที่จะรองรับปัญหาอื่นๆตามมาอีกทั้ง เรื่องของฝุ่น PM2.5 และเรื่องของภัยแล้ง โดยเฉพาะภัยแล้ง ที่สั่นคลอนไปถึงระบบเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลประคบประหงมเป็นนักหนา ถึงแม้มีฝีพายดีพายเรือให้นั่ง แต่ในเมื่อน้ำไม่มี รัฐนาวาก็ไม่อาจล่องลอยได้แคล่วคล่องอีกต่อไป

ข่าวที่น่าสนใจ