เมื่อ WHO เข้าไปในจีน “ถอดบทเรียน โควิด-19” โชคดีที่เชื้อร้ายยังไม่กลายพันธุ์

เมื่อ WHO เข้าไปในจีน “ถอดบทเรียน โควิด-19” โชคดีที่เชื้อร้ายยังไม่กลายพันธุ์


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

เป็นรายงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เราต่างทราบกันดีว่าต้นทางการแพร่ของไวรัสตัวนี้มันมีต้นตอมาจาก “จีน” แต่น้อยคนนักที่จะได้รู้ว่าใน “จีน” มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ส่งคนเข้าไปภายในเมืองจีนเพื่อถอดรหัสทุกอย่างเกี่ยวกับไวรัสชนิดใหม่ตัวนี้ที่โลกต้องหวั่นกลัวไปทุกหย่อมหญ้า เพื่อหาทางออก และทางป้องกันในอนาคตสำหรับการแพทย์ และสำหรับประชาชนที่ต้องศึกษาและติดตามสถานการณ์เช่นกัน

โชคอันดีเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่รายงานฉบับนี้ของ WHO ถูกถ่ายทอดออกมาให้คนไทยได้เห็นภาพเช่นกัน ผ่านการร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ก่อนหยิบเอามาเผยแพร่ในเวทีสัมมนาวิชาการที่แพร่ภาพสดแทนการจัดงาน

 

 

หัวข้อ “องค์การอนามัยโลก เจออะไรที่ประเทศจีน” จึงน่าสนใจอย่างมาก เพราะมันเป็นบทเรียนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในไทย จากประเด็นที่ 25 ชีวิตของ WHO ถูกส่งเข้าไปยังเมืองจีน เพื่อศึกษาจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ซึ่งเราจะขอเอาใจความสำคัญมาให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน และมันจะตอบทุกคำถามที่ยังคาใจของคนที่สงสัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ตัวนี้

ข้อสรุปของที่มาของเชื้อไวรัสโควิด-19 WHO ระบุว่ามาจากสัตว์ แต่ยังไม่อาจระบุลงไปได้ชัดเจนว่ามาจากชนิดใด และมาได้อย่างไร กระนั้นก็ตามสิ่งที่ยืนยันได้ในขณะนี้คือ โควิด-19 ยังไม่มีการ “กลายพันธุ์”

อีกสิ่งที่ชัดคือ “อาการ” พบว่าคนที่มีไข้จะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดถึง 87.9% รองลงมาคืออาการไอแห้งที่ 67.7% และอันดับสามคืออาการอ่อนเพลียที่ 38.1% แต่อาการที่น้อยที่สุดที่พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 คืออาการ “ตาแดง” ในสัดส่วนไม่ถึง 1%

และในส่วนกลุ่มคนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผลการลงพื้นที่เมืองจีนของ WHO ระบุว่าคือกลุ่ม “ผู้สูงอายุ” และกลุ่ม “ผู้ที่มีโรคประจำตัว” โดยเฉพาะโรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง และโรคมะเร็ง ซึ่งทั้งสองกลุ่มพบว่าหากได้รับเชื้อจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง

ขณะเดียวกัน ในกลุ่ม “หญิงตั้งครรภ์” และกลุ่ม “เด็ก” อัตราการติดเชื้อจะน้อยกว่ากลุ่มข้างต้น แต่เมื่อมีอาการได้รับเชื้อก็จะมีอัตราการตายที่ต่ำเช่นกัน

อีกทั้งหากจำแนกเป็นอายุสำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในจีน พบว่ากลุ่มคนมีอายุมากกว่า 80 ปี จะมีอัตราเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย โดยมีตัวเลขสัดส่วนที่ 21.9%

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบด้วยว่า “ข้อมูล” เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในการยับยั้งการแพร่ระบาด เพราะยิ่งรู้ข้อมูลได้มากเพียงใด ก็จะต่อสู้กับโควิด-19 ได้ผลดีมากตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม WHO ได้ถอดบทเรียนจากประเทศจีน เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับประเทศที่ยังไม่มีการระบาดที่ชัดเจน หรือการแพร่ระบาดอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งระยะนี้ประเทศไทยก็ถูกจัดรวมให้อยู่ในกรุ๊ปนี้ด้วยเช่นกัน โดยบทเรียนที่ได้รับมาแบ่งเป็นทั้งหมด 5 ข้อ คือ

1.ให้เริ่มใช้กลไกการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับประเทศ
2.เฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวดและกักกัน (Quarantine)ผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด
3.ให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของโรค และให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ของโรค
4.สอดส่องและค้นหาโรคในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยปอดอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
และ 5.เตรียมแผนการและซักซ้อมการปฏิบัติมาตรการต่างๆ จนถึงระดับสูงสุด ให้เกิดความพร้อมที่จะนำมาใช้ได้เมื่อถึงเวลาจำเป็น

ท้ายสุด สำหรับภาคประชาชนเอง จะมีส่วนช่วยและควรทำอะไรบ้างกับสถานการณ์ของโควิด-19 ซึ่ง WHO ถอดรหัสออกมาพบว่ามีอยู่ 4 ข้อที่สำคัญ ประกอบด้วย

1.ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก
2.ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากหากมีความเสี่ยงหรือเข้าไปในบริเวณที่เสี่ยง
3.เฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเอง คือ หากมีไข้ มีอาการ ต้องมาพบแพทย์ รายงานแพทย์เมื่อมีความเสี่ยง เช่น เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
4.เตรียมสนับสนุน และดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่อาจจะนำมาใช้หากเกิดการระบาด

ข่าวที่น่าสนใจ