จากกรณี “ปู่-ย่า-หลาน” ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สู่มาตรการป้องกันขั้นสูงสุด

จากกรณี “ปู่-ย่า-หลาน” ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สู่มาตรการป้องกันขั้นสูงสุด


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ภายหลังพบผู้ป่วยสูงอายุติดเชื้อไวรัส โควิด-19 หลังเดินทางกลับจากญี่ปุ่น และแพร่เชื้อให้กับบุคคลในครอบครัว จึงเกิดคำถามขึ้นอีกครั้งว่า มาตรการป้องกันเบื้องต้นของสนามบินในประเทศไทยนั่น ได้มาตรฐานหรือไม่?

ทั้งนี้เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใมหม่ที่เรียกว่า “โควิด-19” กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับ บ.การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ ทอท. จัดมาตรการป้องกันบริเวณด่านผู้โดยสารขาเข้า ของสนามบินนานาชาติ คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และกระจายไปยังสนามบินใหญ่อื่นๆในภูมิภาค

มาตรการป้องกันของสนามบินควบคุม “ไวรัสโควิด-19” คุมได้จริงหรือ

มันมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย หากนับระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีเวลานานตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป จนกระทั่งบางรายแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วันที่ 25 และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสามารถติดต่อผ่านผู้อื่นได้ตั้งแต่ที่ผู้ซึ่งเป็นพาหะติดเชื้อวันแรก นี่คือความน่ากลัวของโควิด-19

ขณะที่มาตรการหลักของ ทอท. ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน หากเราเป็นผู้โดยสารในไฟลท์ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จะมีการกำหนดให้เที่ยวบินลงจอดในจุดเฉพาะ พร้อมกับเจ้าที่ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิสแกนวัดไข้ จัดเจ้าที่แปลภาษาเพื่อสื่อสารกับผู้โดยสาร หากมีผู้ที่ต้องสงสัย จะคัดแยกทันที โดยให้สวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือชุด PPE (Personal Protection Equipment) และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเมื่อรู้ว่ามีผู้ต้องสงสัยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยสำหรับห้องผ่าตัด (Surgical mask) ในทันที ก่อนเคลื่อนย้ายผู้ต้องสงสัยด้วยวีลแชร์ส่งรพ.เพื่อทำการตรวจในขั้นตอนต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่มีไข้ก็จะได้รับคำแนะนำให้เฝ้าระวังอาการในระยะ 14 วัน ก่อนปล่อยกลับบ้าน โดยหากมีไข้ อาการผิดปกติก็ขอให้ไปพบแพทย์ ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้อาจดูรัดกุม ก่อนกรณีพบผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งปฏิเสธที่จะบอกประวัติการเดินทาง

 

เหตุการณ์ปู่-ย่า ติดเชื้อ ถึงเวลา สธ. ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ดูเหมือนการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 มันได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลส่วนตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เมื่อผู้ป่วยชายอายุ 65 ปี (ปู่) ปฏิเสธที่จะบอกประวัติการเดินทางในประเทศกลุ่มเสี่ยง (ญี่ปุ่น) จนทำให้เชื้อแพร่ระบาดไปสู่คนในครอบครัว ทั้งภรรยา และหลานชาย

หลังเหตุการณ์ “อนุทิน ชาญวีรกูล “ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งการให้ไล่ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงทุกราย และผู้ร่วมเดินทางอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาตรวจรักษา และเตรียมบังคับใช้กฎหมายหลังพบผู้ปกปิดประวัติการเดินทาง และสั่งห้ามผู้มีความเสี่ยงเข้าเมือง เช่น การส่งกลับผู้เดินทาง 2 ราย ที่มาจากเรือสำราญ Diamond princess เป็นต้น ซึ่งอยู่ในมาตรการการควบคุมการระบาดสูงสุด

ดูจากสถานการณ์ในขณะนี้ กรณีของปู่-ย่า กำลังจะทำให้ประเทศไทย ขยับการแพร่ระบาดของโรคจากระยะ 2 สู่ระยะ 3 คือเกิดการระบาดในประเทศ แม้ก่อนหน้าสธ.จะประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่สิ่งที่ สธ.ทำหลังจากพบกรณีของปู่ย่า คือการขยายการเผ้าระวังในประเทศเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น

ดังนั้นต่อจากนี้ สธ.ควรพิจารณาถึงขั้นตอนของการกักตัวทุกคน ซึ่งเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงในขณะที่เที่ยวบินลงจอดทันที เพี่อเฝ้าตัวอาการ 14 วัน แล้วหรือไม่ เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ตามที่หลายประเทศได้ดำเนินการตั้งแต่ระยะเริ่มการแพร่ระบาด

เหตุผลที่ต้องทำเพราะต่อจากนี้จะแน่ใจได้อย่างไรว่า พนักงานและผู้โดยสารที่อยู่ในไฟลท์บินร่วมกัน เป็นเวลานานพอที่ไวรัสจะแพร่เชื้อได้ เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับผู้โดยสารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง พนักงานทำความสะอาดบนเครื่องบิน จนกระทั่งถึงการเดินทางออกจากสนามบินของผู้ที่อยู่ในไฟลท์เดียวกันของผู้ต้องสงสัย ทั้งกลุ่มคนในครอบครัว หากเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ โดยรถเมล์ รถแท็กซี่ ผู้ให้บริการหรือผู้ที่อยู่ในระบบขนส่งสาธารณะเหล่านี้ จะไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน จะแน่ใจได้อย่างไรว่า สธ.จะซักประวัติได้ครบทุกคน เพราะเหตุผลส่วนตัวของบุคคล มันอยู่เหนือมาตรการป้องกันของสธ.แล้วในวันนี้

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ