ถอดปมปิดตำนาน “Airbus A380” เครื่องบินที่ไม่มีตลาดรองรับ

ถอดปมปิดตำนาน “Airbus A380” เครื่องบินที่ไม่มีตลาดรองรับ


หาสาเหตุจากการถอดปมวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ถึงสาเหตุที่่ทำไมเครื่องบินขนาดซูเปอร์จัมโบ้สองชั้นที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ และทันสมัยที่สุดในโลกอย่าง “Airbus A380” จึงไปไม่รอดในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มันเคยถูกคาดหมายว่าคือ “อนาคตของการเดินทาง”

กองบรรณาธิการ … ThaiQuote

หากยังคงจำกันได้ดี ข่าวใหญ่ที่น่าจะช็อกโลกมากที่สุดโดยเฉพาะในแง่ของอุตสาหกรรมการบินโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นประเด็นที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกอย่าง Airbus (แอร์บัส) ประกาศยุติบทบาทในการผลิตเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ลำที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยสร้างกันมา นั่นคือปิดไลน์การผลิต Airbus A380 เครื่องบินสองชั้นในปี 2564

และประกาศดังกล่าวมันกลายเป็นจุดจบของเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทันที

ปัจจัยสำคัญที่ที่ทำให้ Airbus A380 เครื่องบินขนาดซูเปอร์จัมโบ้ไปต่อไม่ได้ เพราะตลาดไม่ได้ต้องการมันอีกต่อไป บวกกับการผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นหัวใจหลักสำหรับการเดินทางบนท้องฟ้าในปัจจุบัน มันทำให้การบินแต่ละไฟลท์ของนกยักษ์ตัวนี้ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป แม้ว่ามันจะอุดมไปด้วย 800 ที่นั่ง บวกกับราคาค่างวดของมันที่มากถึง 445.6 ล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้หลายสายการบินไม่กล้าจะลงทุนกับ Airbus A380 ลำนี้แม้ว่าจะหรูหรามากแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้น มันจึงทำให้ Airbus A380 ไม่สามารถเดินหน้าได้ต่อเพราะไม่มีผู้ซื้อซูเปอร์จัมโบ้ลำนี้ไปใช้งาน

หลายคนสะท้อนว่า Airbus A380 มาสู่วงการการบินโลกช้าเกินไป และมันช้าไปถึง 2 ทศวรรษ หรือกว่า 20 ปี หากมันมาในช่วงเวลานั้น องค์ประกอบของปัจจัยด้านราคาน้ำมันจะทำให้ Airbus A380 เป็นตำนานของโลกการบินได้ในทันที เพระาแน่นอนว่ามันจะคุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อการบินทั่วโลก แต่แตกต่างกับปัจจุบันที่เกิดการแข่งขันอย่างสูงในอุตสาหกรรมการบิน บวกกับสายการบินต่างๆ ได้เกิดขึ้นมากมายและเสนอเส้นทางที่เชื่อมต่อกันได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้การเดินทางไกลๆ อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป หรือมันไม่คุ้มค่ามากกว่าการต่อเครื่องบินที่ผู้โดยสารเลือกนั้่นเอง

นักวิเคราะห์ด้านการตลาดจากบริษัท Teal Group บริษัทที่วิเคราะห์มูลค่าทางการตลาดชื่อดัง ส่ง Richard Aboulafia ออกมาสะท้อนถึงมุมมองการปิดฉากของ Airbus A380 ไว้อย่างน่าสนใจ เขาระบุนิยามกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า นี่คือความผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของแอร์บัสเลยทีเดียว

“A380 ถูกออกแบบมารองรับตลาดที่ไม่มีอยู่จริงในโลก และนั่นทำให้มันไม่ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมการบินเลย เม็ดเงินที่แอร์บัสทุ่มในโปรเจ็กต์เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ลำนี้ถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (7.5 แสนล้านบาท) อาจจะสูญเปล่า หรือน่าจะเป็นการนำเงินลงทุนส่วนนี้ไปทุ่มกับเรื่องอื่นที่ดีกว่า เหมือนกับคู่แข่งจากโบอิ้งที่ทำให้ Boeing 777X ที่ตอบกับตลาดการโดยสารทางการบินมากกว่าเครื่องบินลำยักษ์” Aboulafia สะท้อนกับสื่อต่างประเทศ

แต่กระนั้น นักวิเคราะห์ผู้นี้ก็มองว่าการปิดฉาก Airbus A380 แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเจ็บปวดของแอร์บัส แต่ในระยะยาวมันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

Airbus A380 ถูกผลิตขึ้นมาตามออเดอร์ทั้งหมด 290 ลำตลอดระยะเวลาแค่ 10 ปีนับตั้งแต่มีการส่งมอบลำแรกให้กับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ และปัจจุบันได้ส่งมอบไปแล้วรวม 239 ลำ เหลืออีกถึง 50 ลำที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้กับสายการบินต่างๆ .