เดิมพันของ “ประชาธิปัตย์” จมกับอดีต หรือ จะอยู่กับปัจจุบัน

เดิมพันของ “ประชาธิปัตย์” จมกับอดีต หรือ จะอยู่กับปัจจุบัน


วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ คอการเมืองไทยก็จะได้เห็นหน้าตาของผู้ที่จะเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทยอย่าง “ประชาธิปัตย์” เพราะจะเป็นวันดีเดย์ที่คณะกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค จะได้คัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนที่ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังนำพาทัพประชาธิปัตย์พ่ายศึกเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างหมดสภาพ

ผู้ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในหนนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ , กรณ์ จาติกวณิช , อภิรักษ์ โกษะโยธิน และพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค

แน่นอนว่าแต่ละคนก็มีดีกรีและความตั้งใจที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะเลวร้ายที่สุดของพรรค เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามันสร้างรอยช้ำและบาดแผลพอควรให้กับพรรคนี้

และถือเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่จับต้องได้ผ่านการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ว่าความแพรวพราวและแนวทางการทำงานแบบเดิมๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่อาจชนะใจคนไทยได้อีกแล้ว

การควานหา “หัวเรือ” คนใหม่เพื่อให้นำประชาธิปัตย์เดินหน้าได้ต่อไป คนๆ นั้นที่กำลังหาอยู่จึงเป็นตัวแปรสำคัญของพรรคการเมืองนี้ทีเดียว

แต่เมื่อไล่เรียงไปยัง 4 คนที่ขันอาสามานำพา ก็ต้องยอมรับว่ามัน “คอนทราสต์” หรือย้อนแย้งในตัวบุคคลกันพอสมควร เพราะมองไปยังฟากฝั่งของ “จุรินทร์” ก็ถือเป็นคนเก่าแก่ที่เก๋าเกมทางการเมืองพอสมควร และหากมองในแง่ประสบการณ์ก็มีภาษีดีกว่าอีกทั้ง 3 ชีวิตที่เหลืออีกด้วย แต่มองให้ลึกลงไปอีก การที่จะได้ “จุรินทร์” มาเป็นหัวหน้าประชาธิปัตย์ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นการคงไว้ซึ่งรูปแบบเดิมที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ทั้งวัฒนธรรมการเมืองของพรรค และมุมมองทางด้านการเมืองในอนาคต ที่ถึงทุกวันนี้ต้องมีคำถามตัวโตๆ ภายในกันเองแล้วว่า รูปแบบการบริหารพรรคแบบเดิม มันดีพอหรือไม่กับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีบริบทเปลี่ยนแปลงไป

หรือประชาธิปัตย์ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนโหมดใหม่จากแบบ “อินไซด์-เอาท์” มาเป็น “เอาท์ไซด์-อิน” หรือการมองจากข้างนอกว่าสถานการณ์มันเป็นเช่นไรกันไปแล้ว และเข้ามามองกันเองในพรรค ซึ่งหากเป็นโจทย์นี้ที่จะเป็นทางที่เลือกเดิน ก็เท่ากับว่าพรรคประชาธิปัตย์ จำต้องมี “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิดและมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันจริงๆ เข้ามานำพาพรรค คำตอบจากตัวเลือกทั้ง 4 คน คงหนีไม่พ้นชายร่างโย่งอย่าง “กรณ์ จาติกวณิช” ที่ก็มีมุมมองค่อนข้างจะปัจจุบันกว่าคนอื่น และหากนำพาและผนึกกันเข้ากับ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ที่อาจจะมาในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ก็น่าจะปูภาพลักษณ์ประชาธิปัตย์ให้ “โมเดิร์น” ได้มากทีเดียว และลบภาพความโบราณที่เกาะกินพรรคนี้ให้ค่อยๆ สลายไป

ขณะที่อีกคนที่ถูกยกให้เป็นมือกฎหมาย “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” ก็น่าจะมีบทบาททีเดียวในพรรคแม้อาจจะไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้า แต่สำหรับคุณค่าของชายผู้นี้ในฐานะนักกฎหมายก็มีความจำเป็นทีเดียวกับสมรภูมิการเมืองในอนาคตที่กำลังจะเดินทางเข้าสู่โหมดปกติหลังคสช.หมดสิ้นซึ่งอำนาจ

กระนั้นก็ตาม แม้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรต่อไป จะคงไว้ซึ่งรูปแบบการทำงานเดิมๆ ก็จะได้จุรินทร์เข้ามาจัดการ แต่หากต้องการเปลี่ยนแปลงแบบทันสถานการณ์ปัจจุบัน ชื่อคนที่จะนำพาก็ต้องไม่พ้นกรณ์ แต่แน่ล่ะหากคำตอบมาในข้อหลัง จุรินทร์เองก็ยังคงมีบทบาทอยู่ในพรรคเพราะถือเป็นบุคลากรชั้นเอก ที่สามารถเข้ามาจัดการจัดระเบียบภายในพรรคได้ผ่านตำแหน่งเลขาธิการ ซึ่งก็น่าจะลงตัวดีทีเดียว

อย่าลืมว่า ประชาธิปัตย์อาจจำต้อง “ปรับตัว” และรื้อสไตล์ตัวเองขนานใหญ่ เพราะต้องไม่ลืมว่าการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในบนถนนการเมือง ก็ทำให้ “อนาตใหม่” ที่ชูโรงความเป็นตัวตนคนรุ่นใหม่อย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ได้เกิดบนเวทีการเมืองผ่านการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

หากประชาธิปัตย์จะฟื้นความเชื่อมั่นและกลับมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ที่มีสิทธิ์กำหนดปรับทิศทางของการเมืองด้วยท่าทีที่บรรดาพรรคอื่นจะต้องเกรงใจ ก็จำเป็นต้องปรับตัว

แต่คำตอบเราจะเห็นได้ชัดในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ดีเดย์ 15 พ.ค. “ประชาธิปัตย์” เคาะหาหัวหน้าคนใหม่