และแน่นอนว่ามันก็มาพร้อมข้อความที่หลากหลาย ทั้งชื่นชม ด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะ ร้องเรียนแก้ไขปัญหา และแชร์ออกไปในวงกว้างบนโลกของออนไลน์
คล้อยหลังเพียงแค่ 3 วัน หลังพล.อ.ประยุทธ์ก้าวเท้าเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเป็นทางการ เช้าวันที่ 17 ต.ค.2561 ก็ปรากฎข้อความที่น่าสนใจจากช่องทางออนไลน์ของพล.อ.ประยุทธ์ คือ “ผมรักและห่วงใยประเทศชาติเท่าชีวิต ผมมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความปรองดองและประสานรอยร้าวของประเทศให้คนไทยมีความสามัคคี ไม่แตกแยกแม้เห็นต่าง”
หากมองแบบผิวเผิน ก็สะท้อนได้ว่าผู้นำแสดงออกตามบทบาทปกติที่รักและห่วงใยต่อประเทศ และเป็นวลีที่คุ้นชินกับการมุ่งมั่นสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้น แม้จะเป็นกลุ่มคนที่เห็นต่างกับการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ตาม
แต่มองให้ลึกลงไป นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวเข้าสู่การเปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์ ก็มีท่าทีที่นุ่มนวลลงมากกว่าเดิม
เห็นได้จากหลายคำพูดที่สะท้อนถึงเรื่องนี้จากพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่ว่า “ไม่รักไม่ว่า เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนมาแสดงความคิดเห็นทั้งดีและไม่ดี” หรือ “ผมต้องการใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชน และจับต้องได้” และ “ขอให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปตรวจสอบดูข้อความในเพจด้วย เพราะหากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหนจะได้รับเรื่องและดำเนินการได้ทันที”
และหน่วยงานก็รับลูกทันที ด้วยเพจเฟซบุกส์หลากหลายของรัฐบาลที่ทำหน้าที่สื่อสารออกสู่สาธารณะให้กับหน่วยงาน ก็พากันแชร์ข้อความของพล.อ.ประยุทธ์อย่างแพร่หลาย ไม่ใช่มีเพียงแต่คอการเมืองทั้งชื่อดัง และคอการเมืองปุถุชนทั่วไปที่ติดตามสถานการณ์
สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากข้อความของพล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องตามติดกันทั้งวัน นั่นคือท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ที่่ดูนุ่มนวลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สมกับคำที่เรียกตัวเองปนรอยยิ้มว่า “ตู่ดิจิทัล” นั่นสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้นำประเทศอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีนอกเหนือไปจากระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผัน และโลกเทคโนโลยีกำลังก้าวไปอย่างไม่มีท่าทีจะหยุดหย่อน คนหัวเก่าอย่างนายกฯ ก็พร้อมจะปรับตัวตามให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า ท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ที่ดู “ซอฟท์” หรือนุ่มนวลมากขึ้นนั้น จะเป็นเพราะแนวคิดของเจ้าตัวเอง หรือภาวะอารมณ์ในช่วงนั้นที่กำลังเบิกบานไม่ได้ขุ่นมัวกับสิ่งใด หรือแม้แต่ทีมงานขอให้ระมัดระวังเพราะเกรงว่าหากเกรี้ยวกราดมากจนเกินพอดี จะทำให้ตกเป็นเป้าโจมตีในโลกออนไลน์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่
เพราะแน่นอนว่าการเข้าสู่โลกออนไลน์ของผู้นำประเทศในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญที่สังคมกำลังประทับตราเอาให้ว่า อาจจะเป็นช่องทางเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองสำหรับบิ๊กตู่ เพราะก่อนจะมี Facebook Twitter และ Instagram พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปรยอย่างมีน้ำหนักว่า สนใจงานการเมืองในอนาคต
แต่อีกมุมหนึ่งก็คัดค้านข้อโต้แย้งนี้ได้ชะงัก เพราะถึงแม้จะมีผลทางการเมืองสำหรับอนาคต แต่ทุกพรรคการเมืองในขณะนี้ต่างก็ใช้ช่องทางบนโลกออนไลน์เพื่อสนองประโยชน์ให้กับกลุ่มก้อนของตัวเองเช่นกัน ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะใช้โลกออนไลน์บ้าง ก็คงจะไม่ผิดแผกอะไร
กระนั้นก็ตาม เป้าหมายหลักของการใช้โซเชี่ยลมีเดียส์ นอกเหนือไปจากเรื่องของการเมือง หรือเหตุผลการสื่อสารไปยังประชาชน และแม้แต่ต้องปรับบุคลิกให้เป็นคนทันสมัยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงใช้ช่องทางนี้เพื่อกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ “คนรุ่นใหม่” ที่ใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้มข้นในทุกวัน และจะเป็นฐานเสียงทีสำคํญสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
ดังนั้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตัวพล.อ.ประยุทธ์เองก็ต้องขยับและปรับเปลี่ยนการสื่อสารที่ต้องเข้มข้นตามไปด้วยเช่นกัน
ครั้นจะมารั้นด้วยความเกรี้ยวกราดเช่นเดิม คงไม่ได้เสียแล้ว เพราะแทนที่จะได้ความนิยมบนโลกออนไลน์ อาจกลับกลายเป็นความสนุกของคนที่จ้องจะโจมตี
โดย…ทีมข่าว ThaiQuote