สำหรับในช่วงเวลาเร่งด่วนรถไฟที่วิ่งจากสถานีเกาลูนตะวันตก (West Kowloon Hong Kong Station)ในฮ่องกง ไปยังนครเซินเจิ้นและกว่างโจวจะออกให้บริการในทุกๆ10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา
ขณะที่การเปิดให้มีเดินรถในเส้นทางดังกล่าว คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่เรียกว่า Greater Bay Area ซึ่งหมายถึง อ่าวกว่างตง ฮ่องกง และ มาเก๊า ที่ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ซึ่งจีนให้ความสำคัญมากระดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งจะมีท่าเรือใหญ่ซึ่งคึกคักที่สุดในโลกถึง 3 แห่ง การคมนาคมโดยระบบโครงข่ายถนน และรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่หนาแน่นอีกแห่งหนึ่งของโลก โดยมีเมืองกว่างตง ซึ่งจีนหมายมั่นปั่นมือให้เป็น China Silicon Valley เชื่อมต่อกับฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์การเงินชั้นนำของโลก และมี “มาเก๊า” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนหลายล้านรายมาเยือนในแต่ละปี
Greater Bay Area จะมี “เซินเจิ้น” เป็นศูนย์กลาง โดยคาดว่าภายใต้ปี 2563 ขนาดของมูลค่าทางเศรษฐกิจของพื้นที่ยุทธศาสตร์นี้ จะมีใกล้เคียงกับเขตอ่าวโตเกียวของญี่ปุ่น และคาดว่าภายในปี 2573 GDP ของเขต Greater Bay Area จะเท่ากับ 4.62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะก้าวขึ้นเป็นภูมิภาคอ่าวที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
“แล้วไทยจะได้อะไรจากการเติบโตครั้งนี้” นี่คือสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งนำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้วางรากฐานเตรียมการเอาไว้ โดยมีเมกะโปรเจกต์ยักษ์อย่าง EEC การพัฒนาท่าเทียบเรือมาบตาพุด แหลมฉบัง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นเมืองท่า หรือ Port ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน การเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นรถไฟความเร็วสูงจากจีนลงมาที่ นครเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว ในเส้นทาง One Belt One Road ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของประเทศ ภูมิภาคอาเซียน สู่ประเทศมหาอำนาจของโลก
ผนวกกับโครงการ SEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ จะทำให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยง 2 คาบสมุทรทะเลตะวันออกและทะเลตะวันตกเข้าด้วยกัน ด้วย Land Bridge ถนน และทางรถไฟรางคู่เชื่อมโยง EEC สู่ทะเลฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงสู่ประเทศกลุ่ม BIMSTEC ต่อเนื่องไปสู่ยุโรป นี่จึงเป็นโอกาสหนึ่งของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน
บทความที่เกี่ยวข้อง
https://www.thaiquote.org/content/41723
https://www.thaiquote.org/content/41373