เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ ก็ควรจะใช้อำนาจด้วยการส่งเสริมมากกว่าทำลาย
กรณีนี้ โดยข้อเท็จจริง จากเจ้าหน้าที่สรรพสามิต คือ มีการจับกุมน้ำสาโท จำนวน 11 ถุงๆ ละ 1 ลิตร โดยไม่รู้ว่า ได้มีการนำชั่งตวงวัด ชัดเจนหรือไม่
แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ยายเสน่ห์ ให้ข้อมูลว่า นำหนักที่ได้จากการหมักข้าวหมาก มาผสมน้ำขาย ซึ่งน้ำข้าวหมาก เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ตีว่า เป็นน้ำสาโท
ข้อมูลจากนักวิชาการ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ม.เกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า กระบวนการทำข้าวหมากกับสาโท เป็นกระบวนการเดียวกัน คือ การใช้แป้งยีสต์นำไปหมักในข้าวหรือข้าวเหนียว จนมีฟอง เท่ากับมีแอลกอฮอล์เกิดขึ้น กลายเป็นข้าวหมาก
กระบวนการนี้ ยีสต์จะเปลี่ยนแป้ง คือข้าวให้เป็นน้ำตาล และจะเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ จึงเรียกว่าข้าวหมัก ซึ่งมีแอลกอฮอล์น้อยกว่าเครื่องดื่มประเภทไวน์ผสมน้ำผลไม้ หรือไวน์คูลเลอร์ ซึ่งหากนำไปหมักต่อ ข้าวเหนียวจะเริ่มเปื่อยยุ่ยจนกลายเป็นผงละลายไปกับน้ำ จะได้น้ำ ที่เรียกว่า “สาโท” ซึ่งมีแอลกอฮอล์ ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์
น้ำข้าวหมาก ที่ยานเสน่ห์ขาย จึงยังไม่เป็นสาโท ตามข้อมูลของอาจารย์ด้านเคมี หากเป็นไปตามนี้ เจ้าหน้าที่สรรพสามิตทำเกินกว่าหน้าที่หรือไม่ หากยายเสน่ห์มีฐานะหน่อย อาจจะต่อสู้ในทางกฎหมายเพื่อให้พิสูจน์ ข้อเท็จจริงได้ แต่คุณยายไม่มีเงินและอำนาจต่อรองใดๆ จึงจำเป็นต้องจ่ายเงิน 10,000 บาท เป็นค่าปรับ ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า ดุลยพินิจตามสายตา โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ ถูกต้องหรือไม่
เป็นชะตากรรมที่คนไทยโดยทั่วไป เผชิญอยู่โดยที่ยากจะหลีกเลี่ยง
การออกมาร้องเรียนของยายเสน่ห์ต่อสื่อ ด้วยเหตุผลว่า ยายขายข้าวหมากและน้ำข้าวหมาก ไม่ได้ขายสาโท เมื่อถูกจับกุมเสียค่าปรับไป 10,000 บาท เงินที่ต้องใช้เวลาหาหลายเดือน ทำให้คุณยายเข็ดขยาด จะไม่ทำข้าวหมากขายอีก
กลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปทำลาย ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมมายาวนาน หากคนทำแป้งข้าวหมาก คิดแบบยายเสน่ห์อีกหลายๆคน ที่ขี้เกียจจะมีปัญหา เลือกทำและขายข้าวหมาก ภูมิปัญญาไทยก็จะหายไปจากประเทศ รายได่ที่ใช้เลี้ยงครอบครัวหายไป ภูมิปัญญาท้องถิ่น ค่อยๆหายไป
พึงเข้าใจว่า ประเทศไทยบริหารประเทศแบบ‘ทุนนิยม’ รัฐได้ออกกฎหมายมาบังคับใช้ ส่วนใหญ่ก็มักจะเดินตามความต้องการหรือผลประโยชน์ของ’ทุน’ขนาดใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง ในการออกกฎหมายสุรา ที่นำไปสู่การผูกขาดของทุนบางกลุ่มในเวลานี้ มีการล็อบบี้ มีการจ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้มีกฎหมายออกมาเพื่อให้‘ทุนใหญ่’ ได้ประโยชน์สูงสุด
กระบวนการล็อบบี้ของทุนใหญ่ ได้เข้าไปทำลาย ภูมิปัญญาชาวบ้าน จนแทบจะหมดสิ้น ก่อนหน้านี้คงจำได้ มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ผลิตเบียร์ขาย แต่ถูกจับ จนต้องเลิกกิจการไป
การผลิตพื้นบ้าน ที่ชาวบ้านผลิตทั่วภูมิภาคของประเทศ อาทิ สาโท เหล้าอุ กระแช่ ว๊าก เป็นต้น ที่ชาวบ้านทำกันเป็นวิธีชาวบ้าน เวลามีงานรื่นเริง งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช งานบุญอะไรก็ตาม สมัยก่อนจะหมักเหล้าพื้นบ้าน เพื่อเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน แต่ปัจจุบันต้องสั่งเหล้าจากผู้ผลิตรายใหญ่มาบริการได้อย่างเดียว
คำว่า มาตรฐาน คำว่า ความปลอดภัย และคำว่า ไม่ต้องการให้คนไทย บริโภคเหล้ากันมาก ถูกนำมาเป็นเหตุผล
แต่กลายเป็นว่า คนไทยดื่มเหล้าเท่าเดิม แต่เพิ่มเติมคือ ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับทุนใหญ่เพียงไม่กี่ราย ชาวบ้านกับภูมิปัญญาท้องถิ่นตายหมด
ถึงเวลาที่จะมีการแก้กฎหมาย ไม่ให้ภูมิปัญญาไทยค่อยๆถูกทำลาย ทำลายการผูกขาดโดยทุนใหญ่ ซึ่งจะยังประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ที่จะมีช่องทางทำมาหากิน ซึ่งหากมีการทลายกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยชาวบ้านได้หลายกรณี อาทิ ชาวไร่สัปรด ที่สามารถนำผลิตผลมาแปรรูปเป็นไวน์ เป็นต้น
จุดนี้ สามารถสร้างรายได้ สร้างการอยู่ดีกินดีให้กับชาวบ้านรายเล็กรายยย่อยและส่งเสริมภูมิปัญญาไทยไม่ให้ถูกทำลาย