ผู้สื่อข่าวรายงานว่า NIKKEI ASIAN REVIEW ได้เผยแพร่บทความที่มีชื่อว่า “THE SELLING OF THAILAND 4.0” โดย WILLIAM MELLOR เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาของบทความกล่าวถึงการเดินทางมาทำข่าวยังประเทศไทยในฐานะสื่อมวลชนต่างประเทศซึ่งได้รับเชิญจากรัฐบาลไทย ในการเยี่ยมชมโครงการที่อยู่ในกรอบนโยบาย Thailand 4.0 อย่างโครงการเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยชี้ว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี คศ. 2037
โดยบทความดังกล่าวยังระบุว่า แม้ประเทศไทยอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี คศ.2037 ก็ตาม แต่ประเทศไทยก็แสดงให้เห็นว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความสนใจและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ สามารถอ่านบทความตัวเต็มได้ในบรรทัดต่อจากนี้
“THE SELLING OF THAILAND 4.0”
“อาทิตย์อัสดงเหนืออ่าวไทย เมื่อรถบัส 3 คันที่บรรทุกผู้โดยสารชาวต่างชาติจอดที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งริมชายหาดพัทยาซึ่งอยู่ 100 กิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ
ผู้โดยสารชาวต่างชาติทั้งหมดดูกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของประเทศที่เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวระดับโลกมาหลายสิบปี แต่ผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยว หากแต่เป็นสื่อมวลชนทั้งจากเอเชียและนอกเอเชีย ที่รัฐบาลไทยเชิญมาเยี่ยมชมประเทศ เพื่อรับรู้ถึงความพยายามที่จะพัฒนา Thailand 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกที่ 4
ผู้โดยสารกลุ่มนี้รับประทานอาหารค่ำ ณ ห้องอาหารริมทะเล เหมือนกับนักท่องเที่ยวอื่นๆ และหลายๆ คนก็ต่อด้วยการท่องเที่ยวยามราตรี แต่การพักค้างคืนที่พัทยานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโปรแกรม 6 วัน ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอกิจการที่มีนวัตกรรมชั้นนำของประเทศไทย ตั้งแต่อุตสาหกรรมอากาศยาน หุ่นยนต์ ไปจนถึงยาต้านมะเร็ง และโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ
ถึงแม้การจัดกิจกรรมนี้จะดูเหมือนการประชาสัมพันธ์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยรัฐบาลทหารที่หลังจากยึดอำนาจในปี 2014 แล้ว จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำตามสัญญาเท่าไรนัก เนื่องจากสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2015 แล้วก็เลื่อนมาเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ซึ่งก็มีโอกาสที่จะล่าช้าออกไปอีก
แต่เมื่อไม่นานมานี้ กลับรู้สึกได้ว่ารัฐบาลทหารอาจจะกำลังทำการปฏิวัติทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ ต่างไปจากการปฏิวัติที่ผ่านๆ มา จุดหมายปลายทางของรัฐบาลนี้คือต้องการให้ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเป็น 6,500 ดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2037เมื่อช่วงหลังปฏิวัติใหม่ๆ รัฐบาลทหารประสบความสำเร็จในการยุติความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในด้านเศรษฐกิจกลับดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนัก ในตอนนั้นรัฐบาลพูดถึงความได้เปรียบของประเทศไทยในเชิงภูมิศาสตร์ ว่าอยู่กึ่งกลางของภูมิภาคที่มีประชากรถึง 3.5 พันล้านคน และมีรายได้รวมกัน 32% ของผลิตภัณฑ์ประชาชาติโลก ประเทศไทยวางแผนที่จะลงทุนมหาศาลในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากจีนไปยังสิงคโปร์
ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียในอาเซียน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอย อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน โดยธนาคารพัฒนาเอเชียประมาณการว่าเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์ จะมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ 6.8-7.1% ในขณะที่ไทยจะโตเพียง 4% นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ประเทศไทยมีส่วนแบ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในอาเซียนที่ลดลงจาก 14% ในปี 2013 เหลือเพียง 6% เมื่อปีที่แล้ว (ตัวเลขจากสหประชาชาติ) นอกจากนั้น ประเทศตะวันตกหลายประเทศก็ไม่ยอมรับประเทศไทยในช่วงหลังการปฏิวัติ
ในระหว่างที่เยี่ยมชม EEC ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลหวังให้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ความรู้สึกแรกคือไม่มีอะไรต่างจากปีที่แล้วที่มาเท่าไรนัก แต่ความสงสัยลดลงเป็นลำดับเมื่อเห็นสัญญานของความก้าวหน้า ตัวอย่างเช่น การบินไทยได้ลงนามร่วมทุนกับ Airbus เพื่อพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุง ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งศูนย์ซ่อมบำรุงนี้คาดว่าจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคแข่งกับสิงคโปร์ทีเดียว
เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 4.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากโลกตะวันตกในช่วงหลังการยึดอำนาจ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากยุโรปเมื่อท่านไปเยือนและประชาสัมพันธ์ประเทศไทย
หลังจากนั้นก็มีข่าวซึ่งย้ำเตือนถึงความสำคัญของประเทศไทยในห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลก นั่นก็คือการที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประกาศขยายการลงทุนในประเทศไทย ตามมาด้วยข่าวที่ว่าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อีก 5 ราย จะลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท วันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 12 ของโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญ โดยมีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ต้องการเป็นครัวของโลก และบริษัทนี้มีการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกด้วย
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้เปิดการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยใช้รูปแบบ PPP เพื่อลดภาระทางการคลังของภาครัฐ เส้นทางรถไฟที่ในระยะแรกจะเชื่อม 2 สนามบินในกรุงเทพฯ เข้ากับสนามบินอู่ตะเภา เป็นระยะทาง 220 กิโลเมตร จะมีการประกาศผู้ชนะประมูลในเดือนธันวาคมปีนี้ และการก่อสร้างจะเริ่มในเดือนมกราคมปีหน้า
ถึงแม้ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานกล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ทันในปี 2037 และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการสร้างความสนใจและความเชื่อมั่น มากกว่าประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งจากนี้สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือลงมือทำโครงการให้สำเร็จตามที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้