ย้อนดูเขื่อนในแม่น้ำโขง ความกังวลยังคงมีอยู่

ย้อนดูเขื่อนในแม่น้ำโขง ความกังวลยังคงมีอยู่


เฟซบุ๊กส่วนตัว oud Mekong หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายแม่น้ำของ ในอ.เชียงของ จ.เชียงราย ตั้งสเตตัสที่น่าสนใจว่า

“ ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนไม่ใช่เหตุหรือปัจจัยเดียวที่จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นหรือลดลง เขื่อนทั้ง6แห่งที่กั้นแม่น้ำโขงในจีนตอนบนยังเป็นตัวปัญหาที่สร้างความแปรปรวนขึ้นลงอย่างผิดปกติยากที่จะคาดเดา “

คำถามในหัวคือ อะไร และ อย่างไร ต่อไป? อนาคตลุ่มน้ำโขง ยังมีอันตรายแฝงอยู่จริงหรือ?

ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มรักษ์เชียงคาน   ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ต่อการจับตามองสถานการณ์ขณะนี้ว่า เขื่อนต่างๆที่ตั้งในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา จำนวนมากกว่า 100 เขื่อน ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและนำมาขายในไทย

“ในตัวแม่น้ำโขง ตั้งแต่เราติดตามการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีใน สปป. ลาว อยู่ห่างจากอ.เชียงคาน จ.เลย เพียง 200 กิโลเมตร เราคาดการณ์ว่า จะส่งผลกระทบต่อไทยค่อนข้างมาก  ผลกระทบที่ชัดที่สุด ผมเคยพูดในหลายๆครั้ง คือเรื่องการขึ้นลงของน้ำ  มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามธรรมชาติน้ำขึ้นลงจะเป็นไปตามลำดับ แต่ทุกวันนี้ มันขึ้นลงไม่เป็นปกติ  วันๆหนึ่งอาจจะขึ้นลงถึงรอบ2รอบ  และก็จะมีเขื่อนปากแบง อยู่เหนือหลวงพระบาง ใกล้กับจ.เชียงราย  ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการการก่อสร้าง อีกเขื่อนที่ใกล้กับอ.เชียงคานที่สุดคือเขื่อน สานะคาม  เป็นกลุ่มทุนจีน ซึ่งกลุ่มนี้เคยมาพูดคุยกับเครือข่ายแม่น้ำของ ที่เชียงของมาครั้งหนึ่งแล้ว  และได้สะท้อนข้อมูลไป ว่าถ้าเขื่อนสานะคามเกิดขึ้นมา อยากให้เจ้าของโครงการมาฟังเสียงคัดค้าน เพื่อที่จะรู้ว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร  แล้วการศึกษาข้อมูล ควรจะให้ฝ่ายไทยหรือร่วมหลายฝ่าย กำหนดกรอบการศึกษาผลกระทบร่วมกัน  จะเป็นเรื่องดี อย่างน้อยจะเป็นการลดแรงต้านทาน ให้เป็นมาตฐานเดียวกัน เพื่อเป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง “

เมื่อถามถึงกรณีเขื่อนเซเปี่ยน-น้ำน้อยที่แตกก่อนหน้านี้ นายชัยณรงค์กล่าวว่า  ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เพียงชาวสปป.ลาว แต่ยังกว้างไปถึงประชาชนในประเทศกัมพูชา  หลายๆที่ที่เชื่อมกับแม่น้ำโขงในไทย ก็อย่างที่เห็นภาพน้ำปริ่มตลิ่ง  บางที่ก็ท่วมในพื้นที่เกษตร

“มั่นใจไม่ได้เลยว่า จะไม่มีเขื่อนไหนแตกอีก แล้วภาคประชาสังคมของสปป.ลาว ไม่มีส่วนที่จะเข้าไปหาข้อมูลอะไรได้ แตกต่างกับฝั่งเรา ที่สามารถหาข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์ผู้รับสัมปทาน  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ นั่นเองทำให้เกิดความหละหลวม ไม่รู้ว่าทางการทำอะไรไปบ้าง  ระหว่างผู้ให้สัมปทานกับผู้ได้รับสัมปทาน  เห็นง่ายๆเรื่องอัตตะปือ รัฐบาลเกาหลีใต้ เร่งให้ตรวจสอบบริษัทที่ได้รับสัมปทานของเขา  เพื่อดูจุดบกพร่องที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้  หลังจากการตรวจสอบแล้ว เราน่าจะได้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจจากตรงนั้นบ้าง “

นอกจากนี้ นักวิชาการอิสระท่านนี้ ยังแสดงความเห็นต่อไปว่า บรรดาเขื่อนต่างๆ แม้แต่ที่อยู่ในจีนเองก็ตาม  ถ้าเกิดแตกขึ้นมาสักเขื่อน ตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งหมด จะราบเป็นหน้ากลองไปจนถึงเวียดนาม ทั้งนี้เพราะว่า แต่ละเขื่อน ในแม่น้ำโขง คือ โดมิโน ตัวหนึ่ง ถ้าเขื่อนใดเขื่อนหนึ่งล้ม เขื่อนข้างล่างก็จะพังตามไป ถ้าพูดให้ชัด เสมือนเป็นระเบิดเวลาดีๆนี่เอง

“ถ้าดูพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบในส่วนไทย จะไล่ลงมาตั้งแต่อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปจนถึงจ.อุบลราชธานี  และไม่ได้เกิดผลกระทบแค่ไทย แต่ประเทศโดยรอบแม่น้ำโขงทั้งหมด และจากการคาดคะเน เขื่อนแต่ละเขื่อนเก็บปริมาณน้ำไว้มหาศาล ซึ่งไม่รู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ภูเขาทั้งลูกจะรับน้ำไหวหรือเปล่า”

นอกจากนี้ เครือข่ายเกี่ยวกับแม่น้ำโขง โดยเฟซบุ๊ก Pai Deetes ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องเขื่อนเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่น่าคิดเพิ่มเติมอีกว่า  คำสั่งรัฐบาล ลาว ไม่กี่วันก่อน สั่งชะลอโครงการ เขื่อน ทั้งหมด เพื่อศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์ประเทศ แต่เมื่อวานนี้ MRC คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประกาศเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือ PNPCA โครงการเขื่อนปากลาย

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนปากลาย Pak Lay Dam มีขนาดกำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง ที่แขวงไซยะบุรี ท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี ที่กำลังก่อสร้าง (และศาลปกครองสูงสุดรับอุทธณ์ จากชาวบ้าน กรณีผลกระทบข้ามพรมแดน)

เขื่อนปากลาย ตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนไทย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพียง 100 กิโลเมตร

ซึ่ง นายชาญณรงค์ ก็ได้ให้ความเห็นในบทความนี้เพิ่มเติมว่า “ผมกังวลอย่างยิ่งกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ ที่จะมีต่อนิเวศในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะแก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของเชียงคาน ทุกปีเราได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่ผันผวน ซึ่งไหลมาจากเขื่อนด้านเหนือในจีน หากมีการสร้างเขื่อนปากลาย ย่อมจะทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่ออาชีพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต่างอาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงที่อีสาน”

ซึ่งบทความนี้ยังกล่าวต่อไปว่า ชาวบ้านริมฝั่งน้ำโขงในประเทศไทย ต่างรอคอยคำพิพากษาศาลปกครองมากว่าห้าปี ในคดีสำคัญเพื่อคัดค้านการตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนปากลายด้านท้ายน้ำจะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และทำให้ความหวังที่จะเกิดความรับผิดในคดีนี้เลือนลางไปอีก

ชัดเจนว่า MRC ไม่สามารถมองเห็นองค์รวมของแม่น้ำ แต่ต้องการแบ่งแม่น้ำเป็นส่วน ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ เราจึงได้เห็นวิบัติภัยที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในทางสังคมและนิเวศ

การแจ้งตามขั้นตอน PNPCA ของเขื่อนปากลาย เกิดขึ้นหลังกรณีเขื่อนปากเบง เมื่อปี 2560 ต่อจากเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง

แม้ว่ากระบวนการปรึกษาหารือกรณีเขื่อนปากแบง มีการพัฒนากว่าเขื่อนก่อนหน้านี้ แต่คุณภาพของข้อมูลและการปรึกษาหารือที่เกิดขึ้น ยังถือว่ามีข้อบกพร่องอยู่ นอกจากนั้น กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากเบงยังส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองของไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

International Rivers มองว่า รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงได้ใช้เงินหลายล้านเหรียญในการศึกษา จนพบว่ามีผลกระทบของเขื่อนที่ร้ายแรง และจำเป็นต้องมีการพิจารณาทางเลือกอย่างจริงจัง การเดินหน้าสร้างเขื่อนใหม่นี้โดยไม่พิจารณาทางเลือกอย่างแท้จริง จึงถือเป็นการใช้งบประมาณสาธารณะอย่างสิ้นเปลือง และสุดท้าย ชาวบ้านนั่นแหละที่ซวยอยู่ร่ำไป

วรกร  เข็มทองวงศ์