มาตรการช่วยเหลือต้องไม่ผิดข้อตกลง WTO
เรื่องของการคาดการณ์ราคาอ้อยในช่วงการผลิตปี 61-62 เป็นการคาดการณ์ตามราคาตลาดโลก ที่ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยเหลือเพียง 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ โดยขณะนี้สำนักงานฯ ได้พูดคุยกับชาวไร่อ้อยแล้ว และเตรียมการหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ในการที่จะกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาเรื่องของการอุดหนุนราคาอ้อยภายในประเทศ และเรื่องข้อตกลงทางการค้าของ WTO ฉะนั้นมาตรการต่างๆจะต้องสอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้า ขณะที่ข้อมูลจากปีการผลิตปี 60-61 มีพื้นที่ปลูกประมาณ 11 ล้านไร่ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบถึง 134.89 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้น 40-45% จากปีการผลิต 59-60 โดยมีราคาอยู่ที่ 880 บาทต่อตัน
เรื่องเร่งด่วน คือ การลดต้นทุนการผลิต
การอุดหนุนราคาอ้อยโดยตรง ณ เวลานี้ อาจจะไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงต้องดูวิธีการช่วยเหลือในการลดต้นทุน ปัจจัยการผลิต การผ่อนคลายระเบียบบางประการ เรื่องการขนส่งที่ค่อนข้างจะมีปัญหาในปีที่ผ่านมา เช่น การที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น เรื่องของน้ำหนักบรรทุก ความสูงของกระบะบรรทุก ซึ่งอาจจะมีการขอผ่อนคลายในช่วงฤดูกาลเปิดหีบ เพื่อให้สามารถบรรทุกผลผลิตได้มากขึ้น ลดต้นทุนด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตามจะต้องมีการเสนอเรื่องให้กับรัฐบาลพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
การกู้ยืมเงินของกองทุน ต้องมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน
อีกประเด็นที่ชาวไร่อ้อยต้องการ คือ ให้หน่วยงานภายในระบบอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินมาเพื่อช่วยอุดหนุนชาวไร่ในเบื้องต้น ซึ่งประเด็นนี้เรามีความกังวลว่าอาจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง แม้ว่าการกู้เงินมาแล้ว กองทุนเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายคืนก็ตาม จะต้องมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนมายืนยันว่า กองทุนมีความสามารถในการใช้คืน เช่น จะนำรายได้ของปีหน้ามาเป็นหลักประกัน แต่เราก็ไม่รู้ว่าราคาอ้อยในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลพร้อมที่จะหารือกับทั้ง 2 ฝ่าย
จาก อ้อย สู่ เอทานอล ยังไร้ความชัดเจน
เรื่องของการส่งเสริม ผลผลิตอ้อย เข้าสู่การผลิตเอทานอล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีการร่วมหารือกับกระทรวงพลังงานไปแล้วในเบื้องต้น แต่ยังติดข้อระเบียบทางกฎหมายบางประการ เช่น ไม่อนุญาตให้นำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้โดยตรง แต่อนุญาตให้ส่งออกในราคาน้ำตาลทราย ซึ่งหากประเทศไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในแก้ใช้อ้อยเพื่อผลิตเอทานอลโดยตรง อาจจะทำให้ราคาของอ้อยดีขึ้น
ขณะนี้เรื่องของการผลิตเอทานอล ก็มีการเปิดโอกาสให้เอาน้ำตาลทรายไปละลายแล้วผลิตเป็นเอทานอลอยู่แล้ว ซึ่งกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่มีราคาประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์นั้นสามารถทำได้ และคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่หากเมื่อราคาน้ำตาลโลกขยับตัวสูงขึ้นก็อาจจะสร้างปัญหาเรื่องของต้นทุนการผลิตเอทานอลขึ้นอีก โดยหากจะให้ดำเนินการตาม พรบ.อย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่สามารถที่จะทำได้อย่างเต็มที่
และหากจะตั้งเป้าการนำอ้อยเข้าสู่กระบวนการการผลิตเอทานอลอย่างจริงจัง ก็จำเป็นที่จะต้องกำหนดความชัดเจนเรื่องของปริมาณการผลิตที่แน่นอน โดยแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างที่ประเทศบราซิลใช้ คือ ผลผลิตจากอ้อยส่วนนี้จะใช้เพื่อการทำน้ำตาล และส่วนหนึ่งใช้ในการผลิตเอทานอลเท่านั้น ซึ่งเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดเป้าและการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน ป้องกันเหตุการณ์เช่น เมื่อราคาน้ำตาลสูงขึ้น ภาคการผลิตจะนำเอาส่วนที่ใช้ผลิตเอทานอลไปผลิตน้ำตาลแทน
จากการพูดคุยกับ เลขาฯสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ก็พอจะเป็นเค้าลางของปัญหาที่ชาวไร่อ้อย เป็นกังวลอยู่ในขณะนี้ ด้วยการที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” แก้อย่างตรงจุดและไม่กระทบต่อองคาพยพทั้งระบบ ที่อยู่ในส่วนของ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และพ่วงท้ายด้วยกระทรวงพลังงาน ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ชาวไร่อ้อยยอมรับในข้อเสนอ และพอใจมากที่สุด
เรื่อง: คเชนทร์ พลประดิษฐ์