เป็นคนไทยต้องอดทน! คาด “น้ำมันแพง” ต่อเนื่อง เหตุน้ำมันดิบโลกจ่อพุ่ง 100 ดอล/บาร์เรล

เป็นคนไทยต้องอดทน! คาด “น้ำมันแพง” ต่อเนื่อง เหตุน้ำมันดิบโลกจ่อพุ่ง 100 ดอล/บาร์เรล


เปิดข้อสรุปจากวงเสวนา “เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยมีกูรูในวงการพลังงาน ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ,กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ,ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ

 

“ดิษทัต ปันยารชุน” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1ปี 65 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ / บาร์เรล และมีสิทธิขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

 

โดยมีผลมาจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด , กำลังการผลิตน้ำมันดิบ , การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว , หรือการเปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยว

 

ทั้งนี้ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1ปี 2565 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ / บาร์เรล และมีสิทธิจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ประมาณ 3,334 บาท)

 

โดยสิ่งที่ต้องจับตามากที่สุด คือ การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปกพลัส) 23 ประเทศ ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำมันรวมกันที่ 27.2 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 30% ของโลก ซึ่งมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. เพียง 4 แสนบาร์เรล/วัน จากความต้องการที่แท้จริงจะต้องมีการผลิตเพิ่มอีกกว่า 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน

 

ด้าน “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมัน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยตรึงราคาน้ำมันหากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูง เหลือเพียง 7,144 ล้านบาท จาก 40,000 ล้านบาทในปี 63

 

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จึงมีการอนุมัติให้กู้เงินเพิ่มเติมในกองทุนอีก 20,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินในประเทศ บวกกับฐานะกองทุนที่เหลืออยู่ 7,144 ล้านบาท โดยรวมทั้งหมดจะตรึงราคาน้ำมันได้ถึงเดือนเม.ย. 2565 บนสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 90 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

“ปัจจุบันเราเก็บเงินจากน้ำมันเบนซินไม่ผสมเข้ากองทุน แล้วนำมาชดเชยน้ำมันเบนซิน E20, E85 จนเหลือ 0 บาท และตรึงราคาน้ำมัน B7, B10 อยู่ที่ 2 บ.ไม่ให้เกิน 30 บ./ลิตร และใช้เงินจากกองทุนอีก 4 บ. เพื่อตรึงราคา B20 ที่มีรถบรรทุก กับรถปิคอัพใช้อยู่ ดังนั้นกองทุนจึงมีแต่รายจ่าย นอกจากจะตรึงราคาน้ำมันแล้ว กองทุนยังตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ปี 63) จนถึงปัจจุบัน ” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการประชุมเสนอลดการจัดเก็บเงินน้ำมันเข้ากองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงานจาก 10 สตางค์ เหลือ 5 สตางค์ ในวันที่ 5 พ.ย.64

 

ประเทศไทยผลิตน้ำมันเองได้เพียง 11% หรือประมาณ 100,000 บาร์เรล/วัน และนำเข้าน้ำมันดิบถึง 89% หรือประมาณ 965,000 บาร์เรล/วัน จากตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ รัฐเซีย เป็นต้น

 

ขณะที่ “ดร.คุรุจิต นาครทรรพ” ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย ส่งผลสำคัญต่อราคา โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีต่างๆ และการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งหากยกเว้นการจับเก็บภาษีและไม่มีการผสมไบโอดีเซลเลย จะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ประมาณ 10 บ./ลิตร แต่คงไม่สามารถทำได้

 

ดังนั้น หากจะช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป มีข้อเสนอว่าควรยกเลิกเพดานราคาน้ำมันดีเซล ที่ใช้มานานถึง 15 ปี โดยเพดานราคาน้ำมันที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 34 บ./ลิตร ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก

 

นอกจากนี้ ควรปรับลดภาษีสรรพสามิตลง 2 บ./ลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.99 บ./ลิตร รวมทั้ง ปรับลดการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ 5% จากที่กำหนดไว้ 7-10% เพื่อช่วยลดภาระของการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ

 

ด้าน “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตจะเห็นได้ชัดเจน โดยหากลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บ. ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมัน

 

อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งคำถามว่าจะยอมหรือไม่ หากรายได้ภาษีสรรพสามิตลดลงปีละ 120,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามากเกินไป ดังนั้น หากจะลดลิตรละ 1-2 บาทคงน่าจะสมควรมากกว่า

 

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีสรรพสามิต คือ การเก็บภาษีสินค้าสิ้นเปลืองต่างๆ แต่ภาษีน้ำมันจะเปลี่ยนไปตรงที่ว่าต้องเก็บเพื่อเป็นภาษีคาร์บอน เพราะน้ำมันเมื่อเผาผลาญเเล้วจะเกิดเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขณะนี้โลกกำลังต้องการลดภาวะเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม วิธีในการลดภาวะโลกร้อนคือการเก็บภาษีให้เหมาะสม โดยต้องเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น