เพราะ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ อินฟราทรัคเจอร์ ที่จะเข้ามารองรับกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่จะมีภาพของ การคมนาคมขนส่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต้องตอบรับการพัฒนา และการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งจะมีโครงข่ายระบบคมนาคมทางอากาศ อย่างสนามบินอู่ตะเภา และสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงการเชื่อมต่อกับสนามบินดอนเมืองเป็นประตูสู่ EEC ที่แน่นอนว่า จะต้องมีระบบขนส่งทางรางเข้ามารองรับ เรียกได้ว่าเป็น “High-Speed Rail” หัวใจแห่ง EEC !! ด้วยความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ EEC ที่จะต้องเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งให้เพียงพอ รองรับกับการลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นรถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพฯ-ระยอง จึงย่อมต้องมีสิ่งที่พิเศษ และพิเศษกว่าปกติ เพราะนอกจากหน้าที่ในการเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง –สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา) แล้ว ยังมีเป็นเรื่องของการพัฒนาในพื้นที่ที่พาดผ่าน เพื่อให้เกิดการเติบโตในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นการกระจายการเติบโตของท้องถิ่นด้วยระบบรถราง และเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมแนวหน้า ซึ่งนั่นหมายถึง EEC โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจังหวัดระยอง พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 260 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน การเดินรถในช่วงที่ผ่านกรุงเทพฯ ชั้นใน จะลดความเร็วลงมาที่ 160 กม./ชม. และจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับ โดยมีส่วนที่เป็นอุโมงค์ คือ ช่วงถนน พระรามที่ 6 ถึงถนนระนอง 1 ช่วงเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงผ่านเขาชีจรรย์ และช่วงเข้าออกสถานีอู่ตะเภา และก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงบนพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นโครงการการลงทุนทางด้านระบบรางครั้งใหญ่และครั้งสำคัญ ที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ ในแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งแน่นอนว่า โครงการการลงทุนในระบบโครงสร้างคมนาคมสาธารณะขนาดใหญ่เช่นนี้ของรัฐบาล มักจะมีความเคลื่อนไหวต่างๆ ตามมา ซึ่งมาลองผ่าโครงสร้างของโครงการ “High-Speed Rail” หัวใจแห่ง EEC ว่าใครจะได้อะไรจากโครงการนี้บ้าง เผื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า “รถไฟความเร็วสูงสายนี้ สำคัญยังไงต่อไทยและภูมิภาค” แน่นอนว่า จุดเริ่มต้นสำคัญของโครงการนี้ คือประโยชน์ที่จะได้จากโครงการ EEC สำหรับระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ ที่มีการปฏิรูปอุตสาหกรรมของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ นี่เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ไปแบบเต็มๆ นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของภูมิภาค เพราะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางอากาศ ที่ประเทศไทยเป็นโดยภูมิศาสตร์แล้ว เป็น “ศูนย์กลางของอาเซียน” โดยตรง นอกเหนือจากนั้นรถไฟสายนี้ ยังเป็นเส้นทางในการขนส่งผู้คนจำนวนมาก ยังผลให้เกิดการขยายเมืองไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดทั้งการสร้างงานสร้างรายได้ กระจายไปในชุมชนต่างๆ เพราะทั้ง 10 สถานี มีถึง 9 สถานี ที่อยู่ชานเมือง และ หัวเมืองสำคัญๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ละสถานีก่อให้เกิด “คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่” ที่ใครที่ยังไม่เคยเห็นภาพ ก็ลองมองรูปแบบของ “มักกะสันคอมเพล็ก” ที่จะเกิดและกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่กรุงเทพฯ,สมุทรปราการ,ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี,ระยอง และไม่เพียงเส้นทางจังหวัดที่พาดผ่าน แต่จังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในรัศมีก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะยังเชื่อมต่อไปถึงระบบคมนาคมถนนหนทางสำคัญหลายสาย กระจายไปสู่ภาคต่างๆ ของประเทศ นอกจากประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมการสร้างงาน การคมนาคมขนส่งแล้ว เส้นทางรถไฟสายนี้ ยังเป็นเส้นทางการเชื่อมต่อสู่การท่องเที่ยว ที่แน่นอนว่าในปัจจุบันภาคตะวันออกเองเป็นศูนย์กลางสำคัญในการการท่องเที่ยวของประเทศ เมื่อมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ก็จะช่วยให้การท่องเที่ยวบูม และ กลายมาเป็นรายได้ให้กับชุมชน หักลบกลบคำวิจารณ์เรื่อง EEC ที่จะได้ประโยชน์เฉพาะคนรวยไปแบบเห็นๆ ประการสำคัญที่หลายคนมองข้ามไปจากเรื่องของรถไฟสายนี้ เพราะแนวคิดจาก รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเน้นเรื่องการพัฒนาบุคลากร เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ จะพาดผ่านพื้นที่ซึ่งจะเป็น “ศูนย์กลางทางการศึกษา”สำคัญๆ ของประเทศในอนาคต ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการศึกษา อย่างกว้างขวางตามมา รวมถึงยังเป็น “เส้นทางรถไฟความเร็วสูงต้นแบบ” ที่จะมีคุณภาพและมาตรฐานสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตามที่ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยไว้กับ THAIQUOTE ว่าจะเป็นรากฐานของการปฏิรูประบบรางของประเทศทั้งระบบ !! นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ยังมีผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับอีกมากมายหลายด้าน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเปลี่ยนแห่งการพัฒนาประเทศ ที่คนไทยทุกคนรอคอย และมีภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก สนใจเข้าร่วมการลงทุน เท่ากับว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ –ระยอง เส้นทางแห่งประวัติศาสตร์นี้คงจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในไม่ช้า … เมื่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ เป็นความหวังของประเทศ เป็นแนวทางในการสร้างความรุ่งโรจน์ทุกฝ่ายก็มุ่งมั่นจะเดินหน้าโครงการนี้ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด และเป็นเรื่องที่คนไทยต้องร่วมมือกันสานฝันแห่งความรุ่งโรจน์นี้ให้เห็นภาพให้ได้ ภายใต้การขับเคลื่อนผลักดันของรัฐบาล ก่อนจะที่จะก้าวข้ามไปสู่การส่งไม้ต่อไปยังรัฐบาลต่อๆ ไป เมื่อเห็นภาพของประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ก็ได้แต่หวังว่าทุกคนจะเห็นถึงการพัฒนาของประเทศ และหวังว่า สำหรับการดำเนินการในส่วนต่างๆ ของ “High-Speed Rail” หัวใจแห่ง EEC จะลุล่วงไปได้ด้วยดี และหวังว่างานยักษ์งานนี้ คงไม่น่าจะมีใครคัดค้าน เพราะเป็นประโยชน์ร่วมกันและเป็นความหวังของคนไทยทุกคน ที่อยากเห็นให้เกิดเป็นรูปธรรมเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้….