แผนพัฒนา 5 ภาค 5 ปี 1,200 โครงการ มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท

แผนพัฒนา 5 ภาค 5 ปี 1,200 โครงการ มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท


เปิดแผนพัฒนาระดับภาค 5 ภูมิภาค เน้นพัฒนาพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องตามภูมิศาสตร์ คงเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561  ว่า แผนพัฒนาภาคตามที่รัฐบาลได้กำหนดนั้น ได้กำหนดให้มีทิศทางสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนระดับชาติ โดยการบูรณาการของส่วนราชการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ลงไปยังพื้นที่ต่างๆ และจะต้องช่วยตอบโจทย์ปัญหา ขจัดอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งรับมือกับความท้าทายของแต่ละภาคได้

ขณะที่การจัดทำแผนพัฒนาในแต่ละภาคนั้น จะต้องมีโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้ได้ประโยชน์ “คู่ขนาน” เติมเต็มกันไปด้วย ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ แผนพัฒนาภาค และกรอบแผนงานโครงการสำคัญ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค ปี พ.ศ. 2560-2564 จำนวนเกือบ 1,200 โครงการ วงเงินรวม กว่า 1.4 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และครอบคลุมทุกพื้นที่ที่สำคัญให้เกิดความต่อเนื่องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างในระดับพื้นที่ด้วย

1.ภาคกลาง จะมีการพัฒนากรุงเทพฯ สู่ “มหานครทันสมัย”  แก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมือง การพัฒนาคุณภาพชีวิต การป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ภาคกลางจะเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง ผ่านการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง คงความสมดุลของระบบนิเวศ และยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว เน้นการเปิดประตูการค้า การลงทุน และ การท่องเที่ยวเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคกลางและEEC

2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเป้าหมายให้พื้นที่กลายเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตด้วยการบูรณาการการดูแลน้ำในพื้นที่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตพร้อมไปกับการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อเร่งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายใน อีกทั้งยังเน้นการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการสร้างโอกาสจากโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงมาจาก EEC เช่น ถนนและรถไฟทางคู่ เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ในภาค รวมถึง ขยายผลออกไป ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ

3.ภาคตะวันออก เป้าหมายคือการเป็น “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ” ของอาเซียน ทั้งการรักษาฐานเศรษฐกิจเดิม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน และพัฒนาให้ภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตอาหารโดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน ที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล รวมถึงพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันจะมีปรับปรุงมาตรฐาน ทั้งสินค้าและการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อจะให้ภาคตะวันออกเป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอม โดยจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการกัดเซาะชายฝั่ง และการบริหารจัดการมลพิษ ควบคู่ไปด้วย

4.ภาคเหนือ มุ่งให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง” ต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาเชิงสร้างสรรค์ และนวัตกรรม รวมทั้งยกระดับให้เป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย เพื่อเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพเพิ่มความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้สามารถกระจายผลประโยชน์ได้ทั่วถึง

นอกจากนี้จะมีการใช้โอกาสในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการขยายฐานเศรษฐกิจออกไปผ่านการค้าและการลงทุน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความยากจน มีการยกระดับฝีมือแรงงานในภาคบริการ รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้คงความสมบูรณ์ มีการจัดระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม และแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษให้ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

5.ภาคใต้ มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็น “เมืองท่องเที่ยวตากอากาศ” ระดับโลก โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศโดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตภาคเกษตร – แปรรูป – สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร รวมทั้งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลกด้วย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถสนับสนุนภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้มากขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย รวมไปถึงการยกระดับอุตสาหกรรมประมง และ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ เพื่อจะสร้างความมั่นคงให้กับภาคการผลิต และรายได้ของเกษตรกร

ขณะเดียวกันยังได้เน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการพัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเบตง ให้เป็นเมืองการค้า และเมืองท่องเที่ยวชายแดนที่ปลอดภัย เชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เพิ่มเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของแผนพัฒนาภาค เพื่อเป็นการบูรณาการงานของส่วนราชการต่าง ๆ แก้ปัญหาอย่างตรงจุดให้กับพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาทั้งหมดนี้จะต้องร่วมกันทำตามกลไก “ประชารัฐ” ด้วย เน้นที่การมีส่วนร่วมของแต่ละฝ่าย ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ส่วนร่วมจากภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยเสริมให้แผนพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น ส่งเสริมการ “ระเบิดจากข้างใน” ตามศาสตร์พระราชาอย่างแท้จริง