นายกฯ ชี้ “ไทยนิยม” ไม่ใช่ “ชาตินิยม”และ “ประชานิยม”

นายกฯ ชี้ “ไทยนิยม” ไม่ใช่ “ชาตินิยม”และ “ประชานิยม”


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ว่า “ไทยนิยม” นั้น ไม่ใช่การสร้างกระแส “ชาตินิยม” เพราะ “ชาตินิยม” นั้นจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภายนอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิดลัทธิของชาติอื่น “ชาตินิยม” จึงมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างสำนึกความรักชาติ แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้นั้น เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของ “ความเป็นไทย” โดยไม่ทิ้งหลักสากล ตนขอย้ำ เราไม่ต้องไปทิ้งหลักสากล ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของ “ไทยนิยม” ที่ตนกำลังพูดถึง และ “ไทยนิยม” ก็ไม่ใช่ “ประชานิยม” เพราะ “ประชานิยม” เป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับ “ยัดเยียด” ทุกคนได้ไป พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชน ด้วยการสร้างแนวคิด “บริโภคนิยม” ที่ผ่านมาประชาชนชอบ พอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้ เหมือนกับนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงอาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง หลายอย่างทำไม่ได้ เลยทำให้ปัญหาต่างๆ พอกพูน มาถึงรัฐบาลนี้ มาถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ เราจึงต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจน ว่าใครเดือดร้อนอะไรอย่างไร มากน้อยเพียงใด เราก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้ความสำคัญให้มาก ว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคำว่า “ประชานิยม” จึงแตกต่างจาก “ไทยนิยม” เพราะว่า “ไทยนิยม” นั้น เป็นการต่อยอด ขยายผลจาก “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการ “ระเบิดจากข้างใน” การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น “3 ประสาน ก็คือ ราษฎร์, รัฐ และ เอกชน” ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะทุกคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งสิ้น ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ด้วยกลไก “ประชารัฐ” ของตน ของแต่ละท้องถิ่น ตรงความต้องการ ดังนั้น “ไทยนิยม” จึงเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการ ตามความนิยม ของคนไทยทั้งประเทศ ต้องนิยมในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีคุณธรรม จริยธรรมด้วย เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เราคนไทยเรารัก และนิยมทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ไม่นิยมไปทำอย่างอื่น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสรรค์ “ไทยนิยม” ในสิ่งดีๆ ให้มากยิ่งขึ้น ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มาเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสให้ “สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธาน เพื่อสร้างสุขให้ปวงชนชาวไทย” ต่อไป สำหรับการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้นก็จะต้องน้อมนำศาสตร์พระราชา ด้วยการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เข้าใจถึงพื้นที่ เข้าใจถึง คน ประชาชน เพื่อจะมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อการพัฒนาประเทศ และประการหนึ่งที่สำคัญ คือการหลุดจากกับดักการเมือง ที่จะต้องแก้ไขพวกนี้ให้ได้ แล้วก็จะต้องให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า “ประชารัฐ” และ “ไทยนิยม” นั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน “ไทยนิยม” จะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้ายๆ กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด– กลุ่มจังหวัด – ภาค ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไก “ประชารัฐ” ทั้งนี้หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้ว ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพ รวมของประเทศได้ ในที่สุด ตนก็อยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม, ประชารัฐ, ยั่งยืน 3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด