งานหัตถกรรมในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ดำเนินการเองมาตั้งแต่อดีต มีแบรนด์ที่แข็งแรง มีตลาดที่ชัดเจน มีอายุมาอย่างยาวนาน พัฒนาเป็นเชิงธุรกิจที่แข็งแรงแล้ว กับอีกกลุ่มหนึ่งเกิดจากโครงการโอทอป ที่มุ่งส่งเสริมให้คนในชุมชนควรมี “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” เดิมงานหัตถกรรมเป็นงานที่ทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยภายในครัวเรือน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พัฒนาขึ้นมาเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีดีไซน์และมีกระบวนการผลิตที่ประณีต มีเอกลักษณ์ ชื่อเสียง แบรนด์ และมีเรื่องราวมาอย่างยาวนาน จนสามารถเจาะตลาดต่างประเทศในกลุ่มนักท่องเที่ยว และตลาดเพื่อการส่งออกได้ ลูกค้าของกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มไฮเอนด์หรือตลาดหรู จากรายงานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศระบุว่าครึ่งปีที่ผ่านมายอดการส่งออกสินค้าหัตถกรรมลดลงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3.49 และแนวโน้มการลดลงเริ่มส่อแววมาตั้งแต่ปี 2559 เหตุผลสำคัญของการลดลงของธุรกิจหัตถกรรมสำคัญคือมีแรงกดดันด้านการพัฒนาดีไซน์ รูปแบบการใช้งาน และขาดคนสืบทอด คนที่ทำส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่าที่สืบทอดวิธีการผลิตมาจากอดีต ลวดลายต่างๆ ก็เป็นลวดลายที่สืบทอดกันมา ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญ นอกจากนี้ตลาดที่เคยซื้อสินค้าหัตถกรรมเป็นจำนวนมากเช่นโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี สินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้จึงยังไม่จำเป็น ส่วนเอเชียถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีอารยธรรมด้านงานหัตถกรรมที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน จึงเจาะได้ยากกว่า ตลาดสินค้าหัตถกรรมที่สำคัญอีกตลาดหนึ่งคือกลุ่มสินค้าโอทอป ในระยะแรกประสบความสำเร็จ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจคนเมืองโดยรวมยังดีอยู่ ประกอบกับสินค้าหัตถกรรมจากชุมชนถือเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนเมือง รัฐบาลส่งเสริมด้านการตลาดให้มีงานเปิดตัว งานมหกรรมขายที่ศูนย์แสดงสินค้าอย่างเอิกเกริก นำมาซึ่งรายได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากลักษณะของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไม่ได้รับการพัฒนาทั้งคุณภาพและรูปลักษณ์ ดีไซน์ จึงไม่เป็นที่จูงใจของลูกค้าในโอกาสต่อมาของการเสนอขายสินค้า แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้วยการสร้างมาตรฐานดาวให้แก่ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมเหล่านั้น แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น โดยดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิสาหกิจชุมชนและประธานมูลนิธิหมู่บ้าน นักพัฒนาชุมชนอาวุโส “ชาวบ้านไม่ใช่นักธุรกิจ จุดแข็งของชาวบ้านไม่ใช่ทำธุรกิจ มีแต่ต้องทำกินทำใช้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีอยู่มีกิน กินอยู่อย่างพอเพียง” ฉะนั้นแนวทางการเร่งรัดให้พัฒนางานหัตถกรรมให้ขึ้นสู่มาตรฐานต่างๆ จึงเป็นภาระหนักที่ชาวบ้านปรับตัวไม่ได้ นางสาวอัจฉริยา เนตรเชย อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่ารูปแบบการส่งเสริมธุรกิจชุมชนในทางปฏิบัติเกือบทั้งหมด เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันฝึกอบรม ดูงาน และให้เงินทุนอุดหนุนปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะโอทอปที่ดูเหมือนว่าจะไปได้ดี แต่ในทางปฏิบัติล้มเหลวจำนวนมาก ประมาณการจากตัวเลข 215 กลุ่มของจังหวัดพิษณุโลก ประสบผลสำเร็จไม่ถึง 10 กลุ่ม หรือไม่ถึง 5% “หากเทียบระดับทั้งประเทศ ตัวเลขก็ไม่น่าจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ กล่าว นอกจากนี้ชาวบ้านก็มีปัญหาเช่นเดียวกับผู้ประกอบการหัตถกรรมมืออาชีพคือการภาวะตันในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และดีไซน์ หนำซ้ำในบางรายยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบกับตลาดในกลุ่มของโอทอปมีผลผลิตออกมามากมาย ในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้บางรายต้องล้มหายตายจากไปจากตลาด ทั้งหมดนี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจหัตถกรรมจัดเป็นธรุกิจดาวร่วงอันดับ 1 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดอันดับขึ้นมา