อารมณ์ความรู้สึกคลางแคลงสงสัยหวาดหวั่นว่า อีอีซีจะเป็นแค่วิมานน้ำลายในอากาศธาตุ ค่อย ๆเลือนลางจางหายไปพร้อม ๆกับความหดหู่ห่อเหี่ยว และถูกแทนที่ด้วยความเชื่อมั่นที่พอกพูนเพิ่มขึ้นควบคู่กับประกายความหวังที่ทอประกายเจิดจ้ามากขึ้น ความสว่างไสวของอีอีซี ดูจะมีรัศมีความเจิดจรัสกว้างไกลไพศาล ถึงขั้นมีอานุภาพดึงดูดคลื่นนักลงทุนขนาดมหึมาจำนวนกว่า 560 ชีวิตให้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากญี่ปุ่นมาสำรวจลู่ทางปักหลักลงทุน พร้อมกับมีการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกันถึง 7 ฉบับ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจต่อกันในการลงทุนในพื้นที่อีอีซี บันทึกความเข้าใจทั้ง 7 ฉบับ เป็นการกระจายกันจับคู่ หรือจับกลุ่มลงนามร่วมกันหลายคู่ ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น บันทึกความเข้าใจฉบับแรกเป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง หอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ถือเป็นแก่นแกนหลักของผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนของไทยกับองค์กรที่เป็นแก่นแกนของผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนของญี่ปุ่น คือ”เคดันเรน”(Keidanren) บันทึกความเข้าใจฉบับที่ 2 เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) บันทึกความเข้าใจฉบับที่ 3 เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย บันทึกความเข้าใจฉบับที่ 4 เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ องค์การสนับสนุนเอ็มเอ็มอีแห่งญี่ปุ่น(SMRI) บันทึกความเข้าใจฉบับที่ 5 เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจโทร) บันทึกความเข้าใจฉบับที่ 6 เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับบริษัทเจซีเซอร์วิส แห่งญี่ปุ่น บันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครกับบริษัทฮิตาชิ ประกายความสดใสของอีอีซีไม่เพียงฉุดกระชากนักลงทุนจากแดนไกลเท่านั้น แต่ยังปลุกให้ชาวบ้านเจ้าของท้องที่พลอยตื่นเต้นและตื่นตัวตามไปด้วย ทุกวันนี้ข้าราชการท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้งชาวบ้านทุกหมู่บ้านตำบลใน 3 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีต่างกระตือรือร้นกับพัฒนาการของอีอีซี และเตรียมเนื้อเตรียมตัวที่จะก้าวหน้าไปพร้อมกับอีอีซี ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้แล้วว่า จังหวัดชลบุรีจะถูกยกระดับขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจสมัยใหม่เต็มรูปแบบ ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้แล้วว่า จังหวัดระยองจะถูกยกระดับขึ้นเป็นนครแห่งการศึกษาและการพัฒนาภูมิปัญญา เป็นฐานที่มั่นหลักของการสร้างคนป้อนสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ซึ่งจะกระจายตัวไปทั่วพื้นที่อีอีซี ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้แล้วว่า จังหวัดฉะเชิงเทราจะถูกพัฒนาไปเป็นนครของการพักอาศัยที่ร่มรื่น สะดวกสบาย เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตยุคดิจิตอล ทุกวันนี้ชาวบ้านต่างรับรู้ร่วมกันแล้วว่าอีอีซี คือเครื่องกำเนิดพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวข้ามกับดักความเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากพลังพลเมืองไทยทุกคน…. แต่น่าเสียดายที่ชาวบ้านไม่รู้เลยว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะได้ฤกษ์บังคับใช้ได้เมื่อไหร่ ???? …………………………………………………..