เหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวที่ภูกระดึง สะท้อนปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับธรรมชาติ เมื่อสัญชาตญาณของช้างถูกปลุก ถิ่นอาศัยถูกบุกรุก และอาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ยากจะหลีกเลี่ยง
เหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวที่ภูกระดึงสะท้อนปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับธรรมชาติที่ยังแก้ไม่ตก เมื่อมนุษย์บุกรุกถิ่นอาศัยเดิมของช้าง ทั้งจากการท่องเที่ยวและการพัฒนา พฤติกรรมของช้างจึงเปลี่ยนไปจากความสงบเป็นตื่นตัวหรือก้าวร้าว ช้างไม่มีเจตนาทำร้ายคนทุกครั้ง แต่เมื่อรู้สึกถูกคุกคาม พฤติกรรมอาจรุนแรงขึ้น
ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับสมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เราจึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้พฤติกรรมของช้างสำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งศึกษาเส้นทางที่ควรระวัง เพื่อลดความเสี่ยงเกิดขึ้นซ้ำ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องจ่ายราคาที่สูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม
-เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช้างป่าเหยียบนักท่องเที่ยว เสียชีวิต 1 ราย
วันที่ 11 ธันวาคม 2567 เกิดเหตุช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวหญิงเสียชีวิตบริเวณหลังแป อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย โดย พ.ต.อ.ณัทญา ทองจันทร์ ผกก. สภ.ภูกระดึง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมแพทย์ฉุกเฉิน รุดตรวจสอบพื้นที่หลังได้รับแจ้งเหตุ เบื้องต้นทราบว่า นักท่องเที่ยวหญิง 2 คน กำลังเดินเส้นทางองค์พระพุทธเมตตาไปน้ำตกเพ็ญพบ แต่เผชิญหน้าช้างป่าที่เข้าทำร้ายหญิง 1 คนจนได้รับบาดเจ็บ และกลับมาทำร้ายอีกครั้งจนเสียชีวิต
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ชี้ว่าเส้นทางดังกล่าวปกติไม่ใช่ถิ่นที่ช้างป่ามักปรากฏตัว เบื้องต้นหัวหน้าอุทยานฯ ได้สั่งการเพิ่มการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งประกาศเตือนนักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำตกชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างประเมินพฤติกรรมช้างป่าและเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่
-หรือเพราะการขยายตัวท่องเที่ยว
ช้างป่าใช้ชีวิตในวงจรที่ต้องการทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร และเส้นทางของช้างมักตัดผ่านพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ที่ภูกระดึง ซึ่งนักท่องเที่ยวเดินตามเส้นทางที่อาจทับซ้อนกับถิ่นอาศัยของช้าง เหตุการณ์ที่สุดวิสัยที่ช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวสะท้อนว่าช้างไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นมนุษย์ที่อาจเข้าใกล้พื้นที่อยู่อาศัยของช้างมากเกินไป
การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อถิ่นอาศัยของช้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เส้นทางธรรมชาติกลายเป็นเส้นทางเดินเท้าของนักท่องเที่ยว แหล่งอาหารและแหล่งน้ำของช้างถูกแบ่งพื้นที่ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น เมื่อช้างรู้สึกว่าบ้านของมันถูกคุกคาม การจัดการที่เหมาะสม เช่น การเพิ่มเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหรือสร้างเขตปลอดภัย อาจช่วยลดเหตุการณ์รุนแรงและสร้างความเข้าใจระหว่างช้างและมนุษย์ได้มากขึ้น
แห่ท่องเที่ยวพิชิตภูกระดึงพุ่ง3พันคน ชมพระอาทิตย์ ผาหล่มสักแออัด
หลายวันหยุดและวันสุดสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยว มัอัตรานักท่องเที่ยวแห่เที่ยวภูกระดึงรับอากาศหนาวเย็นกว่า 10 องศาสูงขึ้นเกินกว่าค่าเฉลี่ย และเป็นภูเขาที่มีความเชื่อว่า“ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้พิชิตภูกระดึง” จึงมีนักท่องเที่ยวไปเยือนล้นหลามทุกปี
นายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย รายงานในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม มีนักท่องเที่ยวมากถึง 1,277 คนขึ้นภูเพื่อสัมผัสอากาศเย็นถึงหนาวพร้อมชมความงามของธรรมชาติ โดยคาดว่าในช่วงปีใหม่ที่จะมาถึง จำนวนคนจะทะลักขึ้นพิชิตยอดภูอย่างแน่นอน
ในช่วงนี้ อุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งมีทะเลหมอกยามเช้าและดวงอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่ผานางแอ่น นักท่องเที่ยวยังสามารถกางเต็นท์พักแรมเพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
ในช่วง วันหยุดนักขัติฤกษ์จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 3พันคน ทำให้เกิดความแออัดในการชมพระอาทิตย์ตกดินที่ผาหล่ม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุมัติให้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 3,500 คนต่อวัน เพิ่มจาก 2,000 คน โดยมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการที่พักและเต็นท์ไว้ถึง 40-50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คาดว่ายอดนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่
-ความขัดแย้งที่ไม่มีทางจบ
ตามคำบอกเล่าของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เบิกไพร” ผู้ที่มีประสบการณ์เดินป่าที่ภูกระดึง ระบุว่า ช้างมักออกหากินในช่วงเช้ามืดและเย็น “เวลาที่ไร้แดด” เพราะเป็นสัตว์ขี้ร้อน แต่เหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวถูกช้างเหยียบในเวลา 9:47 น. ถือเป็นเรื่องผิดปกติที่สะท้อนว่าพฤติกรรมของช้างเปลี่ยนไป อาจเกิดจากความเครียดหรือการถูกรบกวน
ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต้องการใช้พื้นที่เดียวกันเป็นบ้าน การปิดอุทยานเพื่อปกป้องช้างอาจส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ขณะที่การบุกรุกของมนุษย์ก็ทำลายถิ่นที่อยู่ของช้าง
แม้ว่ามาตรการเตือนภัยและระมัดระวังจะช่วยลดความเสี่ยงได้บ้าง แต่ไม่สามารถป้องกันความขัดแย้งได้ทั้งหมด ทางออกที่เป็นไปได้คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและลดความรุนแรงให้น้อยที่สุดเพื่อสร้างสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติในระยะยาว
“ช้างใช้ชีวิตเป็นกิจวัตรซ้ำ ๆ มันหากินเวลาไหนก็จะออกเวลานั้น เปรียบเหมือนคนเข้างานและเลิกงาน เราคนเคยกลับบ้านด้วยวิธีไหนก็ใช้วิธีนั้นใช้เส้นทางนั้น เช่น เคยขึ้นรถเมล์ก็ขึ้นรถเมล์ที่เดิม นานทีปีหนเท่านั้นที่คุณจะออกนอกเส้นทาง เช่น น้ำท่วมทางมีการทำถนนเกิดอุบัติเหตุหรือต้องช้างก็เช่นกันมันใช้ชีวิตเป็นแบบแผน” เบิกไพรกล่าว
-เปิดวิธีเอาตัวรอด เมื่อเจอช้างป่าในระยะประชิด
เพจชมรม คนรักภูกระดึง ให้ข้อมูลว่าถ้านักท่องเที่ยวหยุดดูเพราะมองเห็นช้างป่า ในระยะประชิด ช้างป่าจะพุ่งเข้าชาร์จทันที อาจจะเป็นพฤติกรรมหวงถิ่นหรือตกใจ หรือขมขู่ป้องกันตัวเอง ทางที่ดีเมื่อเดินในพื้นที่ป่าข้างถนนรกทึบ มองไม่เห็น ให้เดินห่างไว้ โดยจดจำไว้ 2 ข้อ คือ
- ตั้งสติ และถอยหลังช้าๆ
เมื่อเจอช้างป่าในระยะประชิด (5-6 เมตร) ให้ตั้งสติ หันหน้าเข้าหาช้าง ค่อยๆ ถอยหลังโดยไม่หันหลังหนีทันที เตรียมถอดกระเป๋าสะพายหรือเสื้อคลุม หากช้างเริ่มวิ่งเข้าหา ให้ทิ้งสิ่งของเหล่านั้นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ แล้วรีบหาต้นไม้ใหญ่หลบอยู่ด้านหลัง ช้างอาจพุ่งชนต้นไม้แล้วหยุดไปเอง - ระวังภัยล่วงหน้า
หลีกเลี่ยงการเดินป่าคนเดียว ควรจับกลุ่มเดินอย่างน้อย 4-5 คน และงดใช้หูฟังเพื่อให้ได้ยินเสียงรอบข้าง เช่น เสียงกิ่งไม้หักที่อาจบ่งบอกว่าช้างอยู่ใกล้ หากพบเห็นช้างในระยะ 50 เมตร ให้รักษาระยะห่าง อย่าส่งเสียงดัง หรือทำให้ช้างตกใจ
-เรียนรู้สาเหตุที่ช้างอาจทำร้ายคน
พฤติกรรมก้าวร้าวของช้างต่อมนุษย์มักเกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่ออารมณ์และความปลอดภัยของช้าง รายละเอียดแบ่งได้ดังนี้
1. การยั่วยุหรือการรับรู้ว่าเป็นภัยคุกคาม
ช้างจะปกป้องสมาชิกในฝูงอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะลูกช้าง หากช้างรู้สึกว่าลูกหรือฝูงของมันถูกคุกคาม ช้างอาจแสดงพฤติกรรมตั้งรับและก้าวร้าว เช่น การเข้ามาใกล้ลูกช้างมากเกินไป หรือรบกวนพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่ตั้งใจ
2. การบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยและความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้าง
เมื่อพื้นที่ป่าธรรมชาติลดลงจากการขยายตัวของมนุษย์ ช้างอาจถูกบีบให้เข้ามาในพื้นที่ของมนุษย์ เช่น ไร่ นา หรือหมู่บ้าน ความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากร เช่น น้ำและอาหาร อาจเป็นต้นเหตุให้ช้างมีพฤติกรรมรุนแรง
3. พฤติกรรมในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ช้างตัวผู้ในช่วง ตกมันหรือฤดูผสมพันธุ์ อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าปกติ เช่น การโจมตีเพื่อแสดงความเหนือกว่าและป้องกันอาณาเขต
4. ความเครียดและความทุกข์ทางอารมณ์
ปัจจัยต่างๆ เช่น การลักลอบล่าสัตว์ การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย เสียงรบกวน หรือประสบการณ์เชิงลบกับมนุษย์ อาจทำให้ช้างเกิดความเครียดจนแสดงพฤติกรรมรุกราน
5. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการถูกกักขัง
ช้างที่ถูกกักขังในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเนื่องจากความหงุดหงิด ความกลัว หรือการถูกทารุณกรรม
การทำความเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ ช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยง พร้อมทั้งสนับสนุนแนวทางการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทางออกอาจไม่ใช่การหาว่าใครผิดหรือถูก แต่มุ่งไปที่การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
เช่น การสร้างแหล่งอาหารให้ช้างในป่า การสร้างเขตกันชน หรือการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวถึงวิธีปฏิบัติตนเมื่อเจอสัตว์ป่า เพื่อให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นน้อยที่สุดและลดความสูญเสียทั้งคนและสัตว์ในระยะยาว
ที่มาภาพ : กรมประชาสัมพันธ์ ภูกระดึง จังหวัดเลย
แหล่งข้อมูล : tsavotrust, เบิกไพร, ชมรมคนรักภูกระดึง