‘เจมส์ แอนดริว มอร์’ เบ้าหลอมสู่ผู้ชายสายกรีน เปลี่ยนผ่านธุรกิจสีเขียวในประเทศไทย

‘เจมส์ แอนดริว มอร์’ เบ้าหลอมสู่ผู้ชายสายกรีน เปลี่ยนผ่านธุรกิจสีเขียวในประเทศไทย

เส้นทางของหนุ่มลูกครึ่ง‘เจมส์ แอนดริว มอร์’  ผู้ที่เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทระดับโลก เรียนโรงเรียนนานาชาติ ได้มาเรียนรู้ธุรกิจการทำนาลดคาร์บอนและสร้างโอกาสขายคาร์บอนให้กับชาวนาไทย ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจอยากเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่โอกาสเศรษฐกิจสีเขียว 

 

 

น่าแปลกใจที่เราเห็นผู้บริหารหนุ่มเดินสายพูดเรื่อง การทำนาลดคาร์บอน ด้วยทางเลือกนาเปียกสลับแห้งในหลายเวทีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจลดโลกร้อน ทำให้คนจดจำภาพของเขาในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่หวังจะปฏิวัติวงการข้าวไทย แต่การเปลี่ยนแปลงมีทั้งแรงหนุน และแรงต้าน เพราะการทำนาข้าวที่ใช้น้ำมาก อยู่คู่สังคมไทยในหลายชั่วอายุคน เขาจึงกลายเป็นเป้าโจมตีของชาวนาอนุรักษ์บางราย ว่าหนุ่มผิวดี ขาวใส ดูมีความสำอาง ต้องไม่เคยผ่านการทำงานกลางแสงแดด จึงถูกชาวโซเชียล ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแบ็คกราวน์ เคยทำนาไหม แล้วทำไมจึงมาพูดเรื่องข้าวอย่างเชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ ‘เจมส์ แอนดริว มอร์’ ถือเป็นผู้บริหารมืออาชีพมานาน ในตำแหน่งกรรมการ บมจ.เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด หรือ WAVE จากนั้นได้เข้าไปลงทุนและถือหุ้นหลัก จึงทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ใน บมจ. เวฟ บีซีจี (WAVE BCG) ทำให้เขาได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเก็บกักคาร์บอนเพื่อซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อร่วมเปลี่ยนผ่านสังคมไทยสู่คาร์บอนต่ำ และยั่งยืน ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มโครงการส่งเสริมการทำนาลดคาร์บอน ด้วยหลากหลายนวัตกรรม เช่น นาเปียกสลับแห้ง

ล่าสุด แม้ว่า ‘เจมส์ แอนดริว มอร์’ ลาออกจากตำแหน่งนี้ได้เดือนเศษ เพื่อไปดูแลการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจสีเขียว ให้กับธนาคารต่างประเทศแต่ก็ถือว่าเขายังคลุกคลีด้านการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพราะนี่คือสิ่งที่เขาเชื่อมั่น

“มันคืออนาคตและโอกาสทางธุรกิจให้กับรายย่อย และประเทศไทย”

โดยก่อนที่ ‘เจมส์’ จะเป็นผู้ทำงานอยู่ในสายกรีน สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกอิน และเชื่อว่าธุรกิจสายกรีนนั้นมาแน่ เกิดจากได้เป็นที่ปรึกษาธุรกิจในบริษัทพี ดับบลิวซี ไทยแลนด์ (PWC Thailand) จึงมีประสบการณ์ด้านการให้คำปรึกษา กลยุทธ์ การปรับปรุงธุรกิจ และทรัพยากรมนุษย์มากกว่า 8 ปี เคยร่วมงานกับองค์กรหลายแห่งที่บริหารจัดการด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดโลกร้อน และนั่นทำให้เขารู้ว่า เทรนด์สายกรีนกำลังมา และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะข้ามไปหาโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ 

โดยสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการปฏิวัติวงการข้าว คือการส่งเสริมให้ข้าวไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก สร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องไปขายแข่งตัดราคา สร้างรายได้ หลุดพ้นความยากจนได้  จึงนำเสนอโมเดลการลงทุนทำนาข้าว แปลงสาธิตเปียกสลับแห้ง เพื่อเก็บคาร์บอน และเป็นต้นแบบในการขยายพื้นที่ปลูกในอีกหลายแห่งในประเทศไทย 

 

“อยากให้ข้าวไทยไม่มีข้อจำกัดในเวทีโลก และสามารถพาประเทศเข้าใกล้เส้นชัยความตกลงปารีส ขจัดก๊าซเรือนกระจก ผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต ชี้ให้เห็นโอกาสเกษตรกรไทยทำได้จากแปลงสาธิตปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง”

 

ในยุคโลกเดือด เขาจึงต้องอธิบายทำความเข้าใจ ให้ความรู้เกษตรกรไทย เกี่ยวกับ การปลูกข้าวปล่อยส่งผลกระทบกับโลก ปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ในปริมาณมากที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรเป็นอันดับ 2 สัดส่วน 15% (สัดส่วนหลักมาจากการทำนาถึง 50%) รองจากภาคพลังงานสัดส่วน 70% 

“เมื่อปลูกข้าวแบบขังน้ำในนาเป็นเวลานาน จะมีเศษซากพืชปริมาณมาก เมื่ออินทรีย์วัตถุเหล่านี้ย่อยสลายแบบไร้อากาศจะเกิดก๊าซมีเทน แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ  แต่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอันดับ 9 โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมและภัยธรรมชาติ ที่มีผลกระทบกับสินค้าทางด้านการเกษตร”

ดังนั้น หากหาวิธีลดมีเทนในภาคเกษตรได้ เท่ากับเพิ่มโอกาสสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส 2030 และช่วยสร้างโอกาสให้ภาคการเกษตรไทยเปลี่ยนผ่านสุ่เศรษฐกิจสีเขียว 

ทว่าสิ่งที่ยากที่สุด คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปลูกข้าวแบบเดิมของชาวนาไทย ให้ลองทำนาเปียกสลับแห้ง” 

 

 

-เส้นทางเดินเบ้าหลอมผู้ชายสายกรีน 

‘เจมส์’ ขยายความว่า จากที่เริ่มต้นเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้ PwC Thailand ทำให้ได้เข้ามาช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทย โดยเขามีบทบาทในการวางแผนกลยุทธ์ให้องค์กรต่างๆ เมื่อ 7-8 ปีก่อน ในตอนนั้นความยั่งยืนเริ่มเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ในประเทศไทยที่ไม่มีใครเข้าใจดี เจมส์ เห็นโอกาสที่ได้เฝ้าสังเกตในตลาดต่างประเทศมาอย่างยาวนาน เลยได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านการพัฒนาธุรกิจความยั่งยืน 

โดยมองเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในอนาคต 

เขามองเห็นว่าประเทศไทยอาจประสบความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดนี้  จึงร่วมงานกับบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด (มหาชน) มีกลยุทธ์ในการส่งเสริมคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นคลังสินค้า (Warehouse) เหมือนสินค้าที่เตรียมขายให้ทั้งไทยและตลาดต่างประเทศ เมื่อความต้องการลดคาร์บอนมีมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์พันธสัญญาโลก ในการลดอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะมีหลายองค์กรที่ต้องการซื้อคาร์บอนนำไปชดเชยให้กับองค์กรในไทย ถ้าต้องการก็สามารถมาซื้อกับเราได้

“เห็นว่าตลาดคาร์บอนเครดิตเริ่มพุ่งเยอะและเห็นว่าประเทศไทยจะลำบาก บริษัทเวฟบีซีจี จึงเกิดขึ้นได้เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เป็น New S-curve ของประเทศไทย กลยุทธ์คือจะเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนเครดิต  เพื่อให้บริษัทต่างๆ สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจาก เวฟ บีซีจี ได้ตามความต้องการ”

 

 

– ทำความเข้าใจวัฏจักรการปลูกข้าวใหม่

วัฏจักรของนาข้าว ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว แบบดั้งเดิมจะใช้วิธี นาเปียกหรือการทำนาที่มีน้ำขัง ซึ่งวิธีนี้ช่วยควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การปล่อยให้น้ำขังตลอดเวลายังทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักของอินทรียวัตถุในดินที่ไม่มีออกซิเจน ผลที่ตามมาคือการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) เป็นวิธีการปลูกที่มีการสลับกันระหว่างช่วงที่ให้น้ำนาข้าว 15 วันและช่วงปล่อยให้ดินแห้ง 15 วัน วิธีนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 30-70% เนื่องจากช่วงที่ดินแห้งทำให้ออกซิเจนเข้าไปในดินและลดกระบวนการหมักที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซมีเทน นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 30% ซึ่งมีความสำคัญในพื้นที่ที่น้ำขาดแคลน

เมื่อถึงช่วงที่ดินแห้ง ชาวนาอาจรู้สึกกังวลเมื่อเห็นดินแตก แต่นาข้าวที่ปล่อยให้แห้งในระยะหนึ่งไม่ส่งผลเสียต่อผลผลิต ในทางกลับกัน การปล่อยให้ดินแห้งช่วยให้อากาศไหลเวียนในดิน ส่งผลดีต่อสุขภาพของข้าว และยังช่วยลดการแพร่กระจายของโรคและแมลงที่มักเกิดในสภาพดินที่มีน้ำขังนานเกินไป 

 

 

-ทำให้ชาวนาหันมาเปิดใจด้วยการทำแปลงนาสาธิต

‘เจมส์’ เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาข้าวประมาณ 60 ล้านไร่ เป็นอาชีพหลักของคนไทยประมาณ 5 ล้านครัวเรือน เวฟ บีซีจี จะเข้าไปรวบรวมแปลงนาที่เหมาะสมจากการเสนอของภาครัฐบาล และเงินทุนจากภาคเอกชนในการดำเนินการสร้างนวัตกรรม การจ่ายต้นทุนให้ชาวนาตลอดทั้งกระบวนการ โดยจะปลูกข้าวข้าง ๆ ในแปลงของชาวนาเพื่อให้เปรียบเทียบดูว่าวิธีการได้ให้คุณภาพข้าวที่ดีกว่า

และพื้นที่เหมาะสมสำหรับการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) คือพื้นที่ ที่มีระบบชลประทานดี พื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่ใน 7 จังหวัดภาคกลาง สุพรรณบุรี, อ่างทอง, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อยุธยาและปทุมธานี และบางพื้นที่ที่ติดแม่น้ำสายหลัก เช่นจังหวัด อุตรดิตถ์ พะเยา และเชียงราย

โครงการทดลอง การทำนาเปียกสลับแห้งถูกนำมาใช้ในพื้นที่ 20 ไร่ ของเกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง บริษัทเวฟ บีซีจีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการข้าว, เกษตรปลอดภัย, สภาการเกษตร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อดูว่าชาวนาจะสามารถปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำนาแบบใหม่นี้ได้หรือไม่ รวมทั้งวิจัยผลผลิตและการลดก๊าซมีเทน

 

 

-รัฐมีกำลังสำคัญในการสนับสนุนภาคประชาชน

‘เจมส์’  มองว่าภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างความมั่นใจให้กับชาวนาที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและช่วยกันหาทางออกให้กับการปลูกข้าวในประเทศไทย เมื่อโครงการการทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่ปทุมธานีประสบความสำเร็จ เวฟ บีซีจีได้ขยายโครงการไปยังจังหวัดสุพรรณบุรีในเฟสแรก โดยครอบคลุมพื้นที่ 3,300 ไร่ ของชาวนา 86 ราย เป้าหมายคือการรวบรวมนาข้าวของเกษตรกรและทำสัญญากับชาวนาให้เข้าร่วมโครงการ แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ชาวนาอาจทำได้ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาการทำนาให้สอดคล้องกับแนวทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความยั่งยืนในระยะยาว

“ถ้าเราเห็นว่าถ้าเขาทำได้น้อยแสดงว่านาเริ่มมีปัญหาแล้ว ก็จะมีตัวแทนเข้าไปดูแลให้ ที่สุพรรณบุรี มีรัฐมนตรีท่านเก่าที่เข้าไปช่วยปูทางให้ ช่วยดึงชาวนาเข้าไประบบและเมื่อมีปัญหาเข้าก็จะรับหน้าที่เข้าไปดูแล”

 

-สร้างแพลตฟอร์มและนวัตกรรมสนับสนุนชาวนา

เวฟ บีซีจี ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนวิธีทำนาเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยใช้ โดรน สำหรับหว่านข้าวและปุ๋ย ใช้ท่อฝังเข้าไปในนาข้าวเพื่อให้ชาวนาเห็นระดับที่จะสามารถบริหารได้

รวมถึงใช้ดาวเทียมในการตรวจสอบสภาพพื้นที่ทำนาจริง ชาวนาจะสามารถถ่ายรูปผ่านแอปพลิเคชันเพื่อรายงานการทำงาน จากนั้นดาวเทียมจะถ่ายลงมาเพื่อยืนยันความถูกต้อง ป้องกันการฟอกเขียวในเรื่องคาร์บอนเครดิต ก่อนตรวจสอบค่ามาตรฐานคุณภาพคาร์บอนที่จะถูกนำไปใช้

การลงทุนนี้ได้จากภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมลงทุน และได้รับผลตอบแทนกลับไปในรูปแบบของคาร์บอนเครดิตที่จะสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ และเมื่อมีการชดเชยคาร์บอน ภาคธุรกิจก็จะสามารถส่งสินค้าไปต่างประเทศและมีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกเพิ่มอีกด้วย 

“ผืนนาที่เข้าร่วม เราไม่ได้ยุ่งกับข้าว เราดูเรื่องวิธีการและเมื่อได้คาร์บอนเครดิตก็จะขอตรงนั้นมาเก็บไว้เอง หรือส่งต่อให้กับภาคเอกชนที่ต้องการคาร์บอนเครดิต ที่นา 1 ไร่ จะได้รับคาร์บอน 1 ตันต่อปี ปัจจุบันทำไปแล้ว 1.6 ล้านไร่ แต่ถือว่าทำได้จริงแค่ 1 แสนไร่”

 

 

-แบ่งพายคนละชิ้น 

‘เจมส์’  เปรียบโครงการนี้เหมือนการแบ่งพายคนละชิ้น ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ตามความเหมาะสม ภาคธุรกิจได้คาร์บอนเครดิตชดเชย ประเทศสามารถมุ่งสู่เป้าหมายความตกลงปารีส โดยเฉพาะชาวนาภาคการเกษตร ไม่มีต้นทุนใด ๆ 

 

  1. สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้นต้นข้าวที่ปลูกแบบเปียกสลับแห้งจะแข็งแรงขึ้น มีการแตกกอมากขึ้น และมีรวงข้าวที่สมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
  2. โปรดักท์ข้าวที่ได้จะกลายเป็นสินค้า คาร์บอนต่ำ สามารถไปขอรับฉลากที่เป็น LOW Carbon ขายได้ในราคาพรีเมี่ยม
  3.  ได้รับรายได้เสริมจากค่า Incentive หรือเงินรางวัลตอบแทนที่ได้จากการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้ภาคธุรกิจ
  4. หนี้นอกระบบที่ชาวนามีก็จะสามารถจัดการได้ เมื่อมีรายได้เสริมและได้กำไรเพิ่ม
  5. การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 30-50% เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวแบบขังน้ำตลอดเวลา
  6. การปลูกข้าวแบบนี้ช่วยลดต้นทุนค่าสูบน้ำ ค่าปุ๋ย และค่าสารเคมี เนื่องจากต้นข้าวแข็งแรงขึ้นและสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น
  7. การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งช่วยลดการระบาดของโรคและแมลง เนื่องจากดินและรากได้รับอากาศ ทำให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น

 

ประเทศไทยควรพัฒนา

‘เจมส์’ กล่าวว่าในปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 370 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 555 ล้านตันในปี 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 222 ล้านตัน

แม้ประเทศไทยจะมีคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2014 แต่ปัจจุบันมีเพียง 19.53 ล้านตัน ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการลด ปัจจัยสำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคเกษตร โดยเฉพาะจากการทำนาข้าว ซึ่งก๊าซมีเทนมีความเข้มข้นกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า

ในมุมมองของโลก ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศค่อนข้างต่ำ แม้จะมีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล 

“ในวันนี้เรามีคาร์บอนเครดิตในไทยตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันเรามี 19 ล้านตัน ดังนั้นช่องว่างจึงสูงมาก ๆ ปัญหาคือเราไม่มีทางทำได้ ถ้าเราไม่หยุดหายใจ ดังนั้นถ้าเราสามารถลดมีเทนได้ โอกาสที่ประเทศไทยจะลดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะสูงยิ่งขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวล”

ถึงแม้ว่าเขาจะลาออกจากบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด (มหาชน) ในปี 2567 ด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่ความมุ่งมั่นในการพัฒนาเรื่องความยั่งยืนของเขาได้ฝากรอยเท้าที่สำคัญให้กับวงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย และเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ไม่เพียงแต่มุ่งสู่กำไร แต่ยังคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการช่วยให้ชาวนาไทยมีรายได้เสริมจากการสะสมคาร์บอนเครดิต ลดหนี้สินและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน