จากอดีตสู่ปัจจุบัน 5 วิธีที่พระปิยมหาราชใช้ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย

จากอดีตสู่ปัจจุบัน 5 วิธีที่พระปิยมหาราชใช้ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 5  กับ 5 วิธี นำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์และการพัฒนา ในด้านการปกครอง การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประชาชน โดยทรงเรียนรู้จากประเทศต่าง ๆ และนำมาปรับใช้เพื่อรักษาเอกราชและความเจริญของชาติ สืบทอดมรดกที่สำคัญให้กับคนไทยในทุกวันนี้

 

 

วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี  เป็นวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม (ศตวรรษที่ 19) พระองค์ได้เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง และนำความรู้ แนวคิด รวมถึงการบริหารแบบตะวันตกมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไทยเข้าสู่ความทันสมัย และมีอายุยืนยาว เติบโตยั่งยืนในยุคปัจจุบัน ท่ามกลางหลายประเทศในภูมิภาคตกเป็นอาณานิคม

การตัดสินพระทัย ของพระองค์ที่เสด็จไปประพาสนานาประเทศ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรี โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย นับเป็นยุทธวิธีสำคัญในการป้องกันการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก อีกทั้งยังเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัยต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้

“การที่ไปหาเอมเปอเรอนี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับดาวเล็ก ๆ เข้าไปใกล้พระจันทร์มันโจทกันจ๊อบแจ็บไปทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดีทำให้เราเป็นคนสำคัญขึ้นได้มาก”

พระองค์ทรงเปรียบเทียบการพบจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ว่าเป็นการทำให้สยาม (ประเทศไทย) มีความสำคัญมากขึ้นในสายตาของนานาชาติ

 

โดยประเทศที่ทรงเสด็จประพาส ประกอบด้วย 

สิงคโปร์และปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) เมื่อปี พ.ศ. 2354 พระองค์เสด็จไปศึกษาวิธีการปกครองของอังกฤษและฮอลันดา โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาเมืองท่าและการค้าขาย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระองค์ได้รับแรงบันดาลใจในการนำการปฏิรูประบบราชการ การศึกษา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาปรับใช้ในประเทศ เช่น การก่อตั้งท่าเรือและเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ

ยุโรป เสด็จประพาสยุโรปถึงสองครั้ง เสด็จไปยังหลายประเทศ เช่น อังกฤษ  ทรงเรียนรู้เรื่องการปกครองและการทหาร, ฝรั่งเศส เพื่อเจรจาเรื่องชายแดนและศึกษาด้านวัฒนธรรม, เยอรมนี ทรงศึกษาด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และ รัสเซีย  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการทูต 

ในปี พ.ศ. 2440 มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้า รวมถึงการศึกษาระบบการปกครองและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทยและ พ.ศ. 2450เป็นการเสด็จประพาสเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย

นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในหลายด้าน เช่น การยกเลิกระบบทาส การปฏิรูประบบราชการ และการพัฒนาระบบคมนาคมและการสื่อสาร เพื่อให้ประเทศไทยมีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ 

เดนมาร์ก เมื่อปี ค.ศ. 2442 พระองค์ทรงเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานเครื่องถ้วยกระเบื้อง “Royal Danish Porcelain” พระราชวัง “Frederiksborg” และโรงเบียร์ “Carlsberg” เพื่อศึกษากระบวนการผลิตและการบริหารจัดการอุตสาหกรรม พระองค์ยังทรงเน้นเรื่องการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงการผลิตในประเทศและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมัน

 

5 การลงทุนเพื่ออนาคต นำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงใช้ 5 วิธีหลักในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย ได้แก่

-การสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

การปรับปรุงวิธีการเกษตรเพื่อให้มีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างระมัดระวัง  ทั้งในด้านกรมป่าไม้ ชลประทานและพัฒนาเมืองหลวง พระปิยะมหาราช ทรงจัดตั้ง “กรมป่าไม้” ขึ้นในปี พ.ศ. 2439 เพื่อดูแลและจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ นับเป็นการวางรากฐานในการป้องกันการบุกรุกและทำลายป่าไม้ รวมถึงการควบคุมการใช้ทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืน 

อีกทั้งทรงสนพระทัยในการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อใช้ในการเกษตร ทรงสร้างโครงการชลประทานเพื่อให้ชาวนาได้มีน้ำใช้ในฤดูเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคกลาง

พระองค์ยังทรงพัฒนากรุงเทพฯ ด้วยการวางแผนสร้างถนนหนทาง จัดระบบระบายน้ำ และส่งเสริมการทำความสะอาดเมืองหลวง โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการพื้นที่สาธารณะและคูคลองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม

 

 

อาคารไม้สัก สำนักงานกรมป่าไม้แห่งแรก

 

-การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 

การสร้างทางรถไฟ ระบบประปา และไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มความสะดวกในการขนส่งและบริหารจัดการทรัพยากรภายในประเทศ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากยุโรป ทำให้ไทยสามารถก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศต้องเผชิญกับการตกเป็นอาณานิคม

-การปฏิรูประบบการศึกษา

การเสด็จประพาสยุโรปเพื่อศึกษาวิธีการปกครองและการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย และการปฏิรูประบบการศึกษา เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่ทันสมัย ทรงส่งนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด การศึกษาทำให้ไทยมีบุคลากรที่พร้อมจะรับมือกับความท้าทายของยุคสมัยใหม่ และเป็นพื้นฐานในการสร้างความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ

“มรดกที่ประเสริฐกว่าทรัพย์คือความรู้ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียน วิชาที่ต้องเรียนคือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และวิชาเลข” พระบรมราโชวาท

 

ห้องเรียนนักเรียนสมัยแรก พ.ศ. 2436

 

-การส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ

การสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ นำแนวคิดการจัดการจากยุโรปมาปรับใช้เป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรไทย โดยพระองค์ทรงยกเลิกระบบไพร่และทาส ซึ่งเป็นการสร้างเสรีภาพให้แก่ประชาชน ส่งเสริมการมีสิทธิเท่าเทียมในการทำงานและพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังมีการตั้งระบบกระทรวง ทบวง กรม ทำให้การบริหารประเทศมีความเป็นระเบียบ และรัฐบาลส่วนกลางมีอำนาจดูแลประเทศอย่างทั่วถึง มีการเปิดรับคนจากต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างเท่าเทียมและเพิ่มช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยและลดอิทธิพลของขุนนางที่อาจเป็นจุดอ่อนในกรณีที่ถูกชาติตะวันตกกดดัน

 

หมอไรเตอร์และภริยา นายแพทย์ประจำพระองค์

 

-การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพภายในประเทศ ลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นอาณานิคม ด้วยการเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชาติมหาอำนาจทางตะวันตก เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองประเทศมีอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาคอาเซียนในเวลานั้น การที่ไทยสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีโดยไม่ทำให้เกิดการยึดครองดินแดนได้เป็นเพราะรัชกาลที่ 5 ทรงมีความชำนาญในด้านการทูต ทรงยอมสละดินแดนบางส่วนให้กับฝรั่งเศสเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของประเทศไทย