โมเดลเนรมิตโลกใหม่คนตัวเล็กไม่เสียเปรียบ สุขภาวะคน ศูนย์กลางธุรกิจ พลัง AIขับเคลื่อนนิเวศเศรษฐกิจเพื่อชีวิต

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ, 29 สิงหาคม 2567

มาร์ค บัคลีย์ นักเศรษฐศาสตร์นิเวศ ชวนเนรมิตรโลกใหม่ ทำให้มวลมนุษยชาติปลดเปลื้องความทุกข์จากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ให้โอกาสทุกชีวิตเป็นเจ้าของพื้นที่ความสุข ไม่ถูกเอาเปรียบหลังระบบทุนนิยมทำให้ทรัพยากรกระจุกตัว ด้วย 5 โมเดลธุรกิจทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข ยั่งยืน ยึดหลัก 3R ดูแลภายในคนสู่สภาพแวดล้อมภายนอก คือ รับผิดชอบตอบแทนโลก (Responsibility) ยืดหยุ่น (Resilience) และ ฟื้นฟูสังคมเศรษฐกิจใหม่(Regenerative) ให้คุณค่าความดีงาม

 

 

รอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสีเขียว ที่เต็มไปด้วยความท้าทายปัญหามากมายที่จะก้าวข้ามสู่บริบทใหม่เพื่อไปสู่โลกในฝันทำให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ด้วยการร่วมมือกันฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง แก้ไขความทุกข์ทรมานของมนุษย์ ให้ผ่านพ้นอุปสรรคมากมาย ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ทรัพยากรจำกัด และพลังงานราคาแพง คนธรรมดาทั่วไปดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก

 

  

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ในปัจจุบันมนุษยชาติได้ค้นพบนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากการเกิดยุคของคอมพิวเตอร์ควอนตัม นำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นโปรแกรมการสนทนาตอบโต้สื่อสารกัน ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) อย่างสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นความก้าวล้ำด้านเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบ 3,800 ล้านปี ยิ่งกว่าระบบควอนตัมที่เกิดวิวัฒนาการขึ้นเองโดยธรรมชาติ ทั้งในเชื้อรา พืช ผึ้ง และสัตว์ในป่า

ทว่า ความหลากลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ยังถือเป็นบทเรียนอันมีคุณค่าของมนุษย์ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ระบบการเลียนแบบธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ที่เกื้อกูล เพราะเกิดความร่วมมือ และทำให้เกิดความยั่งยืนในการในคุณค่ากับทุกสรรพสิ่งในชีวิตบนโลก

จุดเปลี่ยนแห่งโอกาส การสร้างโลกใหม่ ที่เราจะต้องลุกขึ้นมาออกแบบองค์ประกอบเงื่อนไขการฟื้นฟู เงื่อนไขบริบทใหม่เพื่อทุกคน เป็นโลกแห่งเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

 

 

มาร์ค บัคลีย์ นักเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ นักฟื้นฟูโลกใหม่เพื่ออนาคต ที่ปรึกษาและการพัฒนาให้กับองค์การสหประชาชาติ (UN -United Naitons) และศูนย์นวัตกรรมระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ รวมถึงเป็นเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)

มาร์ค คือผู้หลงใหลเต็มเปี่ยมไปด้วยการจินตนาการออกแบบโลกใหม่ ที่เทคโนโลยีและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลสร้างเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสีเขียวปกคลุมด้วยพืชพรรณต้นไม้ และใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นโมเดลที่ต้องการแก้ไขความทุกข์ทรมานของมนุษย์ในเหลื่อมล้ำ ขาดการเข้าถึงโอกาสให้กับทุกคนบนโลกได้เท่าเทียม

  

 

 

 เขาขึ้นพูดเป็น Keynote ในงาน Tech Souce เปิดเวทีชวนทุกคนจินตนาการด้วยการตั้งคำถามชวนคิด

“โลกใบนี้ที่ดำรงอยู่เพื่อเราทุกคนมีหน้าตาเป็นอย่างไรในความคิดของคุณ”

พร้อมกับชวนหลับตา และคิดถึงบ้านในฝันที่ทุกคนจินตนาการถึง กลายเป็นคำตอบชวนให้เราทุกคนเหมือนต้องมนต์สะกด หลุดโฟกัสทำให้ทุกคนอยู่ในพะวงกับความฝันส่วนตัว กับการได้ครอบครองบ้านสิ่งของ มีชีวิตหรูหรา สะดวกสบาย เป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ กลลวงของมาร์ค ที่รู้ดีว่ามนุษย์เราทุกคนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงบ้าน คิดถึงตัวเอง คิดถึงสิ่งที่เราเป็นเจ้าของ ไม่มีใครมองโลกที่เราอาศัยเป็นบ้าน

โลกทำงานเพื่อทุกคน ที่เรามองข้าม

และสุดท้าย มาร์ค จึงทิ้งท้ายคำตอบที่เราหลงลืม มัวแต่สาละวนกับการรับใช้ชีวิตต่างๆ เพื่อตัวเราเอง นั่นแหละที่กลายเป็น ”ปัญหาใหญ่ของโลกใบนี้“ ทำให้เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหาซับซ้อนในปัจจุบัน

มาร์ค เล่าว่า เขาใช้คำถามชุดเดียวกันถามกับทุกสาขาอาชีพ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ ทรงคุณวุฒิ ที่ฉลาดเฉลียวมาร่วมพูดคุยเป็นแขกรับเชิญในช่องพอดแคสต์ของเขา รายการ Inside Idea , Onepoint5, Innovators Magazine Insideidea ทุกคนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพธุรกิจเพื่อสังคม คนสูงวัยมากประสบการณ์ นักธุรกิจ และเกษตรกร ล้วนเจอคำถามชุดเดียวกัน

 

 

 

“โลกใบนี้ที่ดำรงอยู่เพื่อเราทุกคนมีหน้าตาเป็นอย่างไรในความคิดของคุณ”
“What does a world that works for everyone look like for you?

คำตอบที่ได้มีเพียง 30% ที่เข้าใจ ตอบตรงประเด็น ส่วนที่เหลือ บางคนอึ้งไม่รู้จะตอบว่าอะไร บางคน ออกอ่าวไปตอบอย่างอื่น บางคนขอเก็บไปทำเป็นการบ้านก่อน

นี่คือคำถามง่ายๆ ที่กลายเป็นเรื่องยากนี่เอง ที่พาโลกกลับไปสู่หายนะในปัจจุบัน

เพราะหากทุกคนไม่เข้าใจในทันทีว่า คำตอบนั้น คือส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา นั่นเพราะไมด์เซ็ททุกคนล้วนคิดถึงแต่การวิ่งตามกระแส ตามคนอื่น และมีความคิดเห็นแต่การมุ่งตอบสนองความต้องการของตัวเอง แล้วปล่อยให้คนอื่นมาทำหน้าที่ออกแบบโลกวางนโยบายแทนเรา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ประธานาธิบดี ผู้นำทางศาสนา เทศมนตรี ผู้นำรัฐบาล วุฒิสมาชิก แต่หากนำความต้องการของพวกเขาเหล่านั้นมาครอบงำพวกเราทุกคน โดยไม่เคยถามเรา มุ่งพุ่งเป้าทำตามที่ต้องการ

ทำให้ที่ผ่านมาเราทุกคนไม่สามารถออกแบบโลกที่น่าอยู่เพื่อทุกคนได้แท้จริง เพราะเราทุกคนก็ต่างไม่รู้คำตอบนั้นเลย จึงทำให้คนบางกลุ่มนำคำตอบนั้นมายัดเยียด “โลกของพวกเขาอยากได้มาให้กับเราได้เข้าไปอยู่” จึงเป็นที่มาของโลกที่ไม่เท่าเทียม เกิดความเหลื่อมล้ำ กระจายผลประโยชน์ไม่เป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม

“หลังจากที่ผมได้ร่วมงานกับองค์การสหประชาชาติและเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในสหภาพยุโรป ออกเดินทางไปทั่วโลก ผมไม่เคยพบผู้นำคนไหนที่ได้ตามที่ต้องการ ทั้ง ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางจิตวิญญาณ ประธานาธิบดี วุฒิสมาชิก ผู้ว่าการรัฐ หรือนายกเทศมนตรี จะสามารถนำทางไปสู่อนาคตที่ผมต้องการจะไปได้ และนั่นเป็นปัญหา เพราะผมรู้ว่าโลกที่เหมาะสมสำหรับทุกคนมีลักษณะอย่างไร และไม่ต้องการสนับสนุนผู้ที่กำลังพาเราไปในทิศทางที่แตกต่างจากโลกที่เหมาะสมสำหรับทุกคน”

คำตอบที่จากผู้หยั่งรู้โลกแท้จริงจาก ChatGPT

เราทุกคนต่างยังไม่รู้ว่าโลกเพื่อทุกคนหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าถาม ChatGPT คีย์คำถามนี้ไปไม่ว่า 10 ครั้ง จนถึง 120 ครั้ง คำตอบที่ได้จะเหมือนกันทุกครั้งนั่นคือ คำตอบที่เป็นจริงสำหรับทุกคน เพราะ เป็นการประมวลผลรวบรวมข้อมูลจากการป้อนข้อมูลเรียนรู้จากทุกคน

คำถาม : "โลกที่ทำงานได้สำหรับทุกคนมีลักษณะอย่างไร?

คำตอบ ChatGPT : “โลกที่ทำงานได้สำหรับทุกคนคือโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ น้ำสะอาด อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังหมายความว่าทุกคนมีโอกาสในการทำตามความฝัน ความหลงใหลเฉพาะตัว และมีโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยการเลือกปฏิบัติหรืออุปสรรคอื่น ๆ ในโลกที่ทำงานได้สำหรับทุกคน ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและมีศักดิ์ศรี และความต้องการพื้นฐานของพวกเขาจะได้รับการตอบสนองในวิถีทางที่ยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ"

 

 

 

“เราจึงต้องร่วมมือกันช่วยจินตนาการใหม่ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ออกแบบนโยบายสร้างโลกที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนและโลกใบนี้” ด้วยคำตอบ การฟื้นฟู สร้างใหม่ ‘Regenerative’ เป็นคำที่ชัดเจน และตอกย้ำจาก ChatGPT เพราะเป็นสิ่งที่โลกต้องการมากที่สุดในยุคนี้หลังเดินมาถึงปลายทางของวิถีทุนนิยม ทำให้การกระจายทรัพยากรกระจุกตัว จึงต้องเริ่มต้นการฟื้นฟู การกำหนดเงื่อนไขสร้างใหม่ อย่างเร่งด่วน”

โลกที่ทำงานเพื่อทุกคน 100%
ไม่สร้างความเสียเปรียบให้กับใคร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1969 มีสถาปนิกนักคิดท่านหนึ่งชื่อ บัคมินสเตอร์ ฟุลเลอร์ (R.Buckminster Fuller) ผู้เขียนหนังสือ ผ่าตัดยานอวกาศสู่โลก ‘Operating Manual for Spaceship Earth’ เขาคือสถาปนิกนักคิด อัจฉริยะ ผู้มีความคิดล้ำทางนวัตกรรม ผู้คิดค้น รถยนต์ไฟฟ้า และสิ่งประดิษฐ์มากมาย เพราะเขามีหัวใจต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใหม่ จึงออกแบบโดมทรงเลขาคณิต จัดแสดงขึ้นที่ World Fair Expo ในปี 1967 ที่เมืองมอลทรีล ประเทศแคนาดา

พร้อมกับตั้งคำถามสร้างสรรค์ โลกที่เหมาะสมกับทุกคนหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วจึงเฉลย คำตอบโลกเพื่อทุกคน คือ

 

 

 

“โลกที่ทำงานเพื่อมนุษชาติ 100% ผ่านความร่วมมือของทุกคน โดยไม่รุกรานสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิ์ ไม่สร้างความเสียเปรียบให้กับใคร หรือ เอาเปรียบกลุ่มคนบางกลุ่ม”

คำถามและคำตอบนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ถือว่าล้ำมากทั้งที่โลกยังไม่เผชิญกับปัญหาหนักหน่วงอย่างทุกวันนี้ เป็นโลกที่วิถีทุนนิยมกำลังก่อตัวเเติบโตรวดเร็ว และมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังขับเคลื่อนการผลิตจำนวนมาก แนวคิดนี้จึงขัดแย้งกับคนยุคนั้นที่มักจะเริ่มต้นคิดถึงเรื่องเงินและสิ่งที่ต้องการในใจก่อน


วิสัยทัศน์ผู้นำยั่งยืน
แปลงเศรษฐศาสตร์นิเวศสู่โลกธุรกิจฟื้นฟู

มาร์คได้กล่าวถึง หนังสือเล่มใหม่ของเขาที่รวบรวมแนวคิดของผู้นำด้านความยั่งยืน ‘Leadership fo Sustainable Futures’ มีการจัดอันดับประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน (The Chief Sustainable Officer-CSO) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้วางตำแหน่งผู้นำด้านความยั่งยืน และรวบรวม 100 คนที่มีผลงาน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ธุรกิจที่ที่มีระบบนิเวศเป็นองค์ประกอบ โดยพิจารณาถึงการวางกลยุทธ์ธุรกิจที่มีความคิดอย่างเป็นระบบ มีส่วนขับเคลื่อนฟื้นฟู และวางวิสัยทัศน์ที่สร้างความเท่าเทียม ยุติธรรมในทุกระดับ ที่จะต้องเริ่มต้นจากภายใน (Inner Development) เพื่อขับเคลื่อนไปสู่อนาคตถึง 7 รุ่น

โดยหัวใจหลักอยู่ที่ ความคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking), เศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ (Ecological Litteracy), ฟื้นฟู สร้างใหม่ (Regnerative Literacy), หลอมรวมความหลากหลายต่างรุ่น (Intergenerational) และมีวิสัยทัศน์ รักษาความยุติธรรม (Justice & Vision)

สิ่งสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมได้ ในอนาคตคือ ‘นวัตกรรม’ และยุคนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงพาเราก้าวเข้าสู่ยุคหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์โลก (Anthropocene) ออกแบบโลกให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความหลากหลากหลายทางชีวภาพลดลง รวมถึง เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรทางชีวเคมี จากภาคการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตของเสียจำนวนมาก ตลอดจนการขยายตัวของคนเมือง จึงต้องทำความเข้าใจโลกใหม่ ด้วยหลากหลายศาสตร์หลอมรวมกัน ทั้งวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ปรัชญาและสังคมศาสตร์ ให้โลกยั่งยืน

  

 

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน จากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ผ่านมาต่างสาละวนอยู่กับการผลิตสินค้ากลายเป็น ‘ขยะราคาถูก’ และเหลือทิ้งล้นโลก โดยเฉพาะวงการแฟชั่น เสื้อผ้าราคาถูก ที่มีสัดส่วน 10% ก่อมลพิษสู่โลก แต่ก็มีแบรนด์ที่ปฏิวัติหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อย่างแบรนด์ ‘พาทาโกเนีย’ (Patagonia) ที่สร้างโมเดลการทำธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

 

 

 

พลิกเกมเศรษฐกิจทุนนิยม
สู่การสร้างผลกระทบเชิงบวก

เพื่อแก้ไขปัญหาขยะราคาถูกเสื้อผ้าล้นโลก ถือเป็นหนึ่งในผลพวงของโลกทุนนิยม ที่ขับเคลื่อนการบริโภค มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)

จึงถึงเวลาที่เราต้องคิดแบบเป็นระบบนำหลักเศรษฐศาสตร์ผสมผสาน หลุดพ้นจากหลักคิด ทุนนิยม (Capitalism) หลอมรวม เศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศวิทยาเพื่อนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวก คำนึงถึงทุกสิ่งที่สร้างขึ้นมาต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ กระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อดินเสื่อมโทรม สามารถฟื้นฟูสิ่งใหม่ให้กับโลกที่ดีขึ้น

ตัวอย่างชัดเจนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจเล็ก ๆ อย่าง ทอม ชิ (Tom Chi) เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ผู้ร่วมก่อตั้ง กูเกิล เอ็กซ์ (Google X) ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทำงานในโครงการต่าง ๆ เช่น Google Glass และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

ปัจจุบันเขาเป็นนักลงทุน ผู้ร่วมถือหุ้นใน One Ventures บริษัทเงินทุนร่วมลงทุนที่มุ่งเน้นการสนับสนุนสตาร์ทอัพและบริษัทที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม บริษัทมีเป้าหมายในการลงทุนในเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจที่สามารถช่วยแก้ไขความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน จึงมุ่งสนับสนุนธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยเขามีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จึงมีพื้นฐานของการวางเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์สร้างโลกใหม่ ที่มีการเกื้อกูลกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศที่อยู่ร่วมกันกับกลมกลืนกับธรรมชาติ ต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน

 

 

 

ความยั่งยืนที่พวกเราทุกคนจะร่วมกันกอบกู้โลก ไม่ใช่เพียงแค่ การปลูกต้นไม้ เก็บขยะนำกลับมารีไซเคิล โดยจะต้องเริ่มต้นจากแม่บทหลักคือ เศรษฐศาสตร์นิเวศ, นวัตกรรม สร้างผลกระทบไปสู่การเปลี่ยนโลก และมองภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รวมไปถึงตำราเล่มเดิม 3 ห่วง แห่งความยั่งยืน 3 P ที่เกิดขึ้นกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย People -Planet-Profit (คน-สิ่งแวดล้อม-กำไร) ของ จอห์น เอลคิงตัน (John Elkington) เจ้าของตำรายังยืนกรานเองว่าตำรานี้ใช้ได้ไม่ทันกับยุคอีกต่อไป เพราะมีโอกาสกลายเป็นการฟอกเขียว (Green Washing) เฝภาคธุรกิจหลายคนมักจะจดจ่ออยู่กับกำไร โดยลืมคิดถึงความเป็นอยู่ของคนและโลกก่อนไปคิดถึงสังคม สิ่งแวดล้อม

มาร์คได้นำเสนอ 3 เสาหลักใหม่ เอื้อต่อการเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืน ปิดรอยรั่วด้วย 3R จะไม่มีคำว่าการฟอกเขียวให้เกิดขึ้นได้ ประกอบด้วย


R -Responsibility (ความรับผิดชอบ) ตอบแทนคุณต่อคนและโลก
R- Resilience (ความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว) ก้าวให้ทันการพัฒนาในองค์กร
R-Regeneration (ฟื้นฟูสร้างใหม่)

“ถ้าเราทุกคนหลับตาคิดถึงโลกของเรา ภาพต่อมาที่เป็นโลกของเรา ภาพสวยงามคล้ายหินอ่อนสีฟ้า (Blue Marble) เป็นภาพที่มองย้อนกลับมองเห็นโลก ด้วยเทคโนโลยีที่พาเราส่งไปยังดวงจันทร์ จึงมองกลับมาเห็นโลกแสนสวยของเรา สิ่งที่จะพาเรากลับมาฟื้นฟูสร้างโลกใหม่ จึงเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมกับโมเดล 3 R คือ รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม-ผู้คน, ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความผันแปรไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทุกเมื่อ และฟื้นฟูสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อสภาวะการเจริญเติบโตใหม่รองรับความเปลี่ยนแปลง สร้างสังคม และดึงความดีงามของมนุษยชาติกลับสู่โลก”


Work life balance ไม่มีอยู่จริง
ออกแบบธุรกิจสร้างความสุขแห่งชีวิต

ความยั่งยืน คือความจริงของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่หักล้างกับสมดุลชีวิตและการทำงาน ที่เป็นไปไม่ได้ (Work Life Balance) เพราะการมีชีวิตกับการเติบโตในหน้าที่การงานนั้นมันเป็นเรื่องไร้สาระ หรือ คนละเส้นทาง ที่แยกจากกัน

 

 

 

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังได้รับการเลื่อนขั้น เงินเดือนเพิ่มขึ้น ชีวิตการงานกำลังไปได้สวยเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ในขณะเดียวกัน ในชีวิตอีกด้าน คุณกำลังแต่งงาน มีหวานใจที่จะอยู่เคียงข้าง มีอพาร์ทเมนท์เล็ก ๆ คุณมีความสุขสดชื่น และเธอก็ตั้งท้อง คุณตื่นเต้นมาก แล้วสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในปลายทางที่แตกต่างกัน คุณจะหาสมดุลอย่างไร ทำให้คุณกลับติดหล่มอยู่ตรงกลาง เลือกไม่ถูก ไม่ต้องการเลือก และไม่อาจจะทำให้สมดุลได้

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เมื่อคุณเติบโตในการทำงาน ธุรกิจในยุคอนาคต จึงต้องตอบโจทย์การขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์ที่มีความสุขยืนยาวไปพร้อมกันกับการงาน ที่เราทำต้องเป็นเส้นเดียวกันกับชีวิตของเรา

“เราไม่ได้อยู่บนโลกที่ธุรกิจเพื่อธุรกิจ แต่เราจะต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อชีวิต ดังนั้นความยั่งยืนส่วนบุคคลจึงไม่ใช่การมีหน้าที่การงานที่เจริญก้าวหน้าอย่างเดียว เรายังมีหน้าที่ชีวิต เราจึงต้องพัฒนาความยั่งยืนให้ตอบโจทย์ชีวิต 2 ด้านเป็นเส้นเดียวกัน คือการการพัฒนาจากภายในจิตใจความต้องการภายใน (Inner Development) ไปพร้อมกันกับการพัฒนาธุรกิจ ปัจจัยพื้นฐานภายนอกให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (SDGs)”

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ที่ตอบโจทย์ชีวิตใหม่ให้กับคนทุกคนจึงจะมีการขยายตัวมูลค่าของเศรษฐกิจนิเวศเพื่อความยั่งยืนที่จะเติบโตถึง 84 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030

  

 

โมเดลการพัฒนายั่งยืน จึงเป็นระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศ ที่จะต้องเริ่มต้นพัฒนาจากจุดเล็ก ๆ นำสิ่งที่พัฒนากลับคืนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และลดการใช้พลังงานฟอสซิล ใช้พลังงานทางเลือก ที่มีการลงทุนเพียงประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

หากมีการขยายการลงทุนเพื่ออนาคตมากขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดี สร้างโลกที่ดีน่าอยู่เพื่อเราทุกคนได้ ทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ภายในปี 2030

นั่นหมายถึงมนุษย์ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทั่วถึงกัน เช่น อาหาร น้ำ การนอนหลับสบาย มีบ้าน การขับถ่ายสะอาดถูกสุขอนามัย มีความปลอดภัยของร่างกาย การทำงาน ครอบครัว สุขภาพ ทรัพย์สิน

ธุรกิจโลกในอนาคตที่จะดำรงอยู่ได้จะต้องเป็นธุรกิจที่สร้างความสว่างสไวให้กับชีวิตคน ดึงดูดเงินลงทุนมูลค่าจะมีมูลค่ากว่า 94 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ผ่านเศรษฐกิจสีเขียว ,เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

 

 

 

ผ่าโมเดลอุดมคติแห่งความยั่งยืน
พลานุภาพควอนตัมกำเนิดโลกใหม่


แม้แต่ ริชี สุนัค (Rishi Sunak) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยังเคยได้ให้คำมั่นสัญญาในเวที COP 28ที่กลาสโกว์ จะลงทุนเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืน และสินเชื่อสีเขียว มูลค่า130 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ภาคการศึกษา สังคม ความเป็นอยู่ที่ดี

มีโมเดลการพัฒนาธุรกิจมากมายที่ขับเคลื่อนโลกใหม่ให้ยั่งยืน และดีขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่าง 5 โมเดลที่น่าสนใจคือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy), เศรษฐกิจโดนัท (Donut Economy), เศรษฐกิจสุขภาวะที่ดี (Well being Economics), เศรษฐศาสตร์พุทธศาสนา (Buddhist Economics), ดัชนีความสุขมวลรวม (Gross National Happiness), และเศรษฐกิจแบบฟื้นฟูสร้างเงื่อนไขใหม่เพื่อการเจริญเติบโตใหม่ (Regenerative Economics)

“โมเดลเหล่านี้ช่วยทำให้เยียวยารักษาโลกที่กำลังล่มสลายให้ฟื้นฟูดีขึ้น จะต้องผสมผสานความหลากหลาย ทำให้เข้าใจชีววิทยาและระบบการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ ให้เราใช้ชีวิตอยู่อาศัยในแบบระบบนิเวศวัฎจักรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลธรรมชาติ หลากหลายชีวิตมาร่วมมือกัน จะทำให้เกิดพลานุภาพที่แข็งแกร่งทำให้โลกเติบโตมากกว่า ผลลัพธ์ธรรมดา ไม่ใช่แค่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่จะเติบโตมากเป็นทวีคูณ แบบก้าวกระโดดเหมือนทฤษฎีควอนตัม”

  

 

 เทคโนโลยีมากมายพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัม แต่ไม่สามารถเข้าใจกลไกของการทำงานของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ พืช สัตว์ เชื้อรา ผึ้ง พวกมันดำเนินการในเชิงควอนตัมมาเป็นเวลานาน ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจ พืชทำการสังเคราะห์แสงและผลิตอาหารดักจับคาร์บอนและสร้างออกซิเจนได้ ซึ่งไม่ต้องพยายามทำให้ควอนตัมเพิ่ม เพียงแต่ปล่อยให้เกิดระบบวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ปล่อยให้โลกดำเนินต่อไปตามหลักควอนตัมที่ก่อตัวมาเป็นเวลา 3,800 ล้านปี

Symbiosene เลียนรู้กลไกเกื้อกูลธรรมชาติ สู่ 3 หัวใจนิเวศยั่งยืน Ego-Eco-Seva

“นวัตกรรม เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเดียวกันกับความยั่งยืน คือการปล่อยให้สรรพสิ่งเกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีวิวัฒนาการสร้างส่งระบบพลังงานควอนตัมต่อเนื่องมายาวนาน เป็นการอาศัยกลไกการทำงานร่วมมือกัน (Symbiocene) สร้างปรากฎการณ์นิเวศวิทยาที่รวดเร็วที่สุด เพื่อทำให้เกิดการฟื้นฟู สร้างใหม่ (Regenerative) ไปสู่อนาคต เป็นเงื่อนไขเอื้อต่อการทำให้ชีวิตได้เจริญเติบโตรุ่งเรืองท่ามกลางสภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

และสุดท้าย 3 หัวใจหลักในการที่มีการปฏฺิสัมพันธ์ ร่วมการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ตามทฤษฎีควอนตัม ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลดอัตตา ลดทอนความเป็นตัวตน (Ego) การแสวงหาความร่วมมือเชื่อมต่อกับผู้อื่นสร้างระบบนิเวศที่ดีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Eco) และสุดท้าย คือการเสียสละลดความเห็นแก่ตัว อุทิศตัวเองเพื่อผู้อื่น นี่คือจุดสูงสุดของมนุษย์ เมื่อมีไมตรีเป็นมิตรที่ดีกับทุกคน จะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่กลมกลืน รักใคร่ และร่วมมือกันสร่างโลกของเราให้งดงาม