กฟผ. จับมือ อ.อ.ป. เดินหน้าพลังงานสะอาด เร่งศึกษาพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลป้อนโรงไฟฟ้า หวังเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ตัวช่วยดูดซับกักเก็บคาร์บอน เดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2608
ประเทศไทยมีพื้นฐานเกษตรกรรม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก จึงมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ภาครัฐจึงมีนโยบายส่งเสริม การผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพื่อใช้พื้นฐานด้านการเกษตรมาผลิตไฟฟ้า ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยวางเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและ พลังงานทางเลอื ก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 20%
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
ดร.จิราพร ศิริคำ รักษาการผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า การผลิตและจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลมาผสมร่วมกับถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปลูกไม้โตเร็ว กฟผ. จึงร่วมกับ อ.อ.ป. ศึกษาและประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกพืชพลังงานชีวมวล เพื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล สำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งผลการศึกษาจะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี อีกทั้งยังถือเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต รวมทั้งรายได้ที่เกิดจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า อ.อ.ป. มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมทั้งการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และการใช้ศักยภาพของสวนป่าเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปีพ.ศ.2593)และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (ปีพ.ศ.2608)
จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้ที่ปลูก โดยนำมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และประเทศชาติต่อไป
สำหรับพลังงานชีวมวลนับเป็นอีกพลังงานทางเลือกที่ กฟผ. ดำเนินการศึกษา เพื่อก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ
Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
Sink Co-creation เพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้
Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ