รางวัล ‘คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน’ มอบ ป่าชุมชนบ้านต้นตาล’ จ.นราธิวาส ชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี 2566 ถือเป็นป่าชุมชนต้นแบบ มีความเข้มแข็ง เด็กและสตรี มีส่วนบทบาทขับเคลื่อนป่ายั่งยืน สอดคล้องกับ SDGsข้อ15 ปกป้องนิเวศบนบน
การจัดตั้งป่าชุมชนถือเป็นยุทธศาสตร์ แกนหลักในการสร้างเครือข่ายป่าชุมชนยั่งยืนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการป่ายั่งยืน วิธีการอนุรักษ์ป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในปี พ.ศ. 2593
ป่าชุมชนที่ชุมชนมีส่วนร่วม
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2566 เปิดเผยถึงรางวัลป่าชุมชนบ้านต้นตาล จังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศในปีนี้ ซึ่งรางวัลที่ป่าชุมชนได้รับได้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชนในการดูแลรักษาป่าฝ
ถือเป็นป่าชุมชนตัวอย่างที่เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูและพัฒนาป่าชุมชน อีกทั้งยังเป็นป่าชุมชนที่มีทั้งสถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และทำกิจกรรมในป่าชุมชนร่วมกับบ้านต้นตาล”
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้เกิดความยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ เร่งดำเนินการจัดตั้ง ป่าชุมชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามเป้าหมาย 15,000 ป่าชุมชน
ผลจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนและภาคเอกชน ที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาป่าชุมชนกว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศ ผลสำเร็จจึงปรากฏเป็นรูปธรรม ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนที่อยู่ใกล้บ้าน สร้างรายได้ สามารถกักเก็บคาร์บอน และเกิดการซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน
นอกจากนี้เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการร่วมกับภาคประชาชนในการร่วมกันดูแลรักษาป่า ประชาชนทุกคนก็จะได้รับประโยชน์จากป่า สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิต ท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนเครือข่ายป่าชุมชนทุกท่าน และบริษัท ราช กรุ๊ป (จำกัด) มหาชน ที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาป่า ภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง และขอเป็นกำลังใจให้กับเครือข่ายป่าชุมชนทุกแห่ง ที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาป่า และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างยั่งยืน
ราช กรุ๊ป ชูเป้าหมาย “ป่ายั่งยืน ชุมชนได้ประโยชน์”
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 ด้วยการขับเคลื่อนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมี 3 แนวทางหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน และการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากป่าไม้
โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เป็นความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้ บนเป้าหมาย “ป่ายั่งยืน ชุมชนได้ประโยชน์” ที่สำคัญโครงการนี้ ยังตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) เป้าหมายที่ 15 ชีวิตบนบก เพราะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมชุมชนในการปกป้อง ฟื้นฟูป่า การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งป่าชุมชนจะเป็นแหล่งดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพและสำคัญของประเทศในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังสามารถตอบสนองเป้าหมายที่ 13 เพราะชุมชนมีความตระหนักรู้และสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย สำหรับโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2566 ได้สนับสนุนป่าชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการป่ายั่งยืน ผ่านรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน จำนวน 1,773 แห่ง รวมเงินรางวัลจำนวน 45.9 ล้านบาท พื้นที่ป่ารวม 1,599,151 ไร่ ซึ่งสามารถกักเก็บและดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10 ล้านตันคาร์บอน ในปีนี้มีป่าชุมชน 16 แห่งที่ได้รับรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของ บริษัทฯ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกรมป่าไม้ และชุมชนในการดูแลรักษาป่าของประเทศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับ ป่าชุมชนบ้านต้นตาล จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับถ้วยพระราชทานรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ชนะเลิศระดับประเทศในปีนี้ ถือเป็นป่าชุมชนตัวอย่างที่เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูและพัฒนาป่าชุมชนที่มีต้นทุนทางธรรมชาติน้อยจากสภาพเดิมที่ประสบปัญหาดินแล้งไม่อุ้มน้ำ และด้วยความร่วมมือของชุมชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างเข้มแข็งส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้คืนความอุดมสมบูรณ์จนมีนกเงือกกลับเข้ามาอยู่อาศัย และพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่มีทั้งสถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชนที่สนใจ ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาศึกษาเรียนรู้และทำกิจกรรมในป่าชุมชนร่วมกับบ้านต้นตาลอย่างต่อเนื่อง
นายมะซี มะเกซง ประธานป่าชุมชนบ้านต้นตาล กล่าวว่า “โจทย์ของป่าชุมชนบ้านต้นตาล คือการรักษาความชุ่มชื้นของดินในป่าชุมชนที่อยู่บนภูเขา โดยเราได้สร้างฝายเพื่อเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน ควบคู่กับการปลูกต้นไม้เพิ่มและศึกษาเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำให้มีใช้ตลอดปี เราใช้เวลากว่า 5 ปี ดำเนินการจนป่าสมบูรณ์และมีน้ำใช้ตลอดปี”
นอกจากนี้ ป่าชุมชนบ้านต้นตาลยังส่งเสริมให้สตรีและเยาวชนมีบทบาทสำคัญในการร่วมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มสตรีบ้านต้นตาลสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ โดยมีกลุ่มเยาวชนเป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมคนในชุมชนให้มาร่วมกันพัฒนาป่าชุมชนจนยกระดับเป็น “ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านต้นตาล” ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เช่น การปลูกป่า การลาดตะเวนป่า การทำฝาย การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลผลิตจากป่า เช่น งานจักสาน น้ำผึ้งชันโรง ชาสมุนไพรและขนมพื้นถิ่น โดยมีการจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชน ป่าชุมชน บ้านต้นตาล” เพื่อนำผลผลิตจากป่าชุมชนมาแปรรูปจนสร้างอาชีพเป็นรายได้เสริมให้กับกลุ่มและชุมชน สำหรับกลุ่มเยาวชน ยังทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์และทูตวัฒนธรรมที่เผยแพร่อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านต้นตาลสู่การรับรู้ของชุมชนและสังคมภายนอกให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ผลงานของป่าชุมชนบ้านต้นตาล เป็นที่ประจักษ์จากรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่ผ่านมา ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศดีเด่นด้านเยาวชนรักษ์ป่า ประจำปี 2558 รางวัลรองชนะเลิศดีเด่นด้านสตรีอาสาพัฒนาป่าชุมชน ประจำปี 2559 รางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด ประจำปี 2561 และรางวัลรองชนะเลิศดีเด่นด้านป่าชุมชน สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุข ปวงประชา ประจำปี 2562
การมอบรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2566 ให้กับป่าชุมชนบ้านต้นตาล และ ป่าชุมชนอีก 15 แห่ง ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการขยายเครือข่ายป่าชุมชนยั่งยืนเพื่อรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการ ดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 ของประเทศบรรลุ ผลสำเร็จ
กรมป่าไม้ และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังคงส่งเสริมและสนับสนุนป่าชุมชนให้แข็งแกร่งและเติบโต เพื่อขับเคลื่อนประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593.
ผลรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2566
รายการรางวัลระดับประเทศ
1. รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 200,000 บาทได้แก่ ป่าชุมชนบ้านต้นตาล หมู่ที่ 2 ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
ป่าชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่ 578 ไร่ มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนบ้านต้นตาล เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน เพิ่มมูลค่าผลิตผลจากป่าชุมชนควบคู่กับการรักษามรดกทางธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรที่ชื่อว่า “ชาอาโด่ว์” มีสรรพคุณช่วยเสริมกำลัง ลดอักเสบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ตลอดจนการเสริมหนุนบทบาทสตรีและเยาวชน ผสานการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติผ่านการบริหารและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านต้นตาล 15 ฐานการเรียนรู้ อาทิ ฐานเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน ฐานเรียนรู้การดับไฟป่า ฐานเรียนรู้ชาสมุนไพร ฐานเรียนรู้งานจักสาน
2. รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 3 รางวัล ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศและเงินรางวัลแห่งละ 150,000 บาท
– ป่าชุมชนบ้านห้วยหาด หมู่ที่ 7 ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน
– ป่าชุมชนบ้านเขาเขียว หมู่ที่ 14 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
– ป่าชุมชนบ้านหนองเจริญ หมู่ที่ 7 ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี
รางวัลระดับภาค
1. รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับภาค จำนวน 4 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 100,000 บาท
– ภาคเหนือ: ป่าชุมชนบ้านร่องบอน อ.พาน จ.เชียงราย
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ป่าชุมชนตำบลธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
– ภาคกลางและตะวันออก: ป่าชุมชนชนบ้านโนนหินผึ้ง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี
– ภาคใต้: ป่าชุมชนบ้านวังไทร (ถ้ำพระหอ) อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
2. รางวัลป่าชุมชนรองชนะเลิศระดับภาค จำนวน 4 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 50,000 บาท
– ภาคเหนือ: ป่าชุมชนบ้านป่างิ้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ป่าชุมชนบ้านทับทิมสยาม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ
– ภาคกลางและตะวันออก: ป่าชุมชนชนบ้านสระเศรษฐี อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
– ภาคใต้: ป่าชุมชนบ้านจังโหลน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
รางวัลดีเด่นด้านการพัฒนา จำนวน 4 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแห่งละ 50,000 บาท ได้แก่
– ป่าชุมชนบ้านแม่ฮ่องไคร้ หมู่ที่ 8 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
– ป่าชุมชนบ้านเปาปมดงยาง หมู่ที่ 7 ต.นาพูน อ.วังชิ้น จ.แพร่
– ป่าชุมชนบ้านท่าเส้น หมู่ที่ 8 ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด
– ป่าชุมชนบ้านซำหวาย หมู่ที่ 3 ต.สีวิเชียร อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี