โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการผ่าตัดเสมอไป

โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการผ่าตัดเสมอไป

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบเจอได้มากในกลุ่มผู้สูงวัย แต่การรักษาไม่จำเป็นต้องจบด้วยการผ่าตัดเสมอไป แพทย์มักจะเริ่มต้นวิธีการรักษาจากการรับประทานยาแก้อักเสบ หรือการรับประทานยาบำรุงไขข้อ ประกอบกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายเป็นประจำและการทำกายภาพบำบัด

 

สำหรับบทความให้ความรู้โดย นพ.ฉัตรดนัย พันธุ์อุดม ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสะโพกและข้อเข่า ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ (Musculoskeletal Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกของการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ผ่าตัดไว้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวิธีการรักษาอาการดังกล่าว

ปัจจุบันมีการรักษาวิธีทางเลือกที่สามารถชะลอการเสื่อมของข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น เช่น การการฉีดยาลดการอักเสบหรือชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ ซึ่งการรักษาโดยไม่ผ่าตัด ดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเมื่อถูกนำไปใช้ในกลุ่มข้อเข่าเสื่อมที่เป็นแรกเริ่ม เพื่อชะลอการดำเนินโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดียิ่งขึ้น

ทางเลือกของการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ผ่าตัดมีรายละเอียดดังนี้

1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกายแอโรบิคที่ไม่กระแทกรุนแรงบริเวณหัวเข่า เช่น การเดินเร็ว หรือการเดินในน้ำ การว่ายน้ำ การถีบจักรยานแอโรบิค หรือการเล่นโยคะ

2.การลดน้ำหนัก ในกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน เป็นวิธีที่สามารถช่วยลดอาการปวด และเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวเข่าได้ดีมากขึ้น แต่ในคนไข้กลุ่มที่มีภาวะโรคอ้วนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก็ประสบปัญหาอุปสรรค์การลดน้ำหนักยาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ลำบาก และมีโรคแทรกซ้อนหลายโรค จำเป็นจะต้องลดน้ำหนักภายใต้การควบคุมของแพทย์และนักโภชนาการเพื่อความปลอดภัย

3.การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขา ยังคงเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพ แต่จำเป็นจะต้องปฎิบัติตามอย่างถูกวิธี และการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ในระยะแรกผู้ป่วยควรอยู่ในการดูแลของนักกายภาพบำบัด และเรียนรู้การบริหารกล้ามเนื้อสำหรับนำไปปฏิบัติต่อที่บ้าน ในกรณีที่มีอาการปวดมากอาจใส่อุปกรณ์เสริมเข่า เช่น Knee Support หรือ Knee Brace เพื่อบรรเทาอาการปวดได้

4.การรักษาโดยรับประทานยา
• ยาแก้อักเสบ Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs) ยังคงเป็นการรักษาแรกเริ่มที่ใช้สำหรับการควบคุมอาการปวดในระยะสั้นได้ แต่ไม่สามารถใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรเลี่ยงการใช้เช่น ในกลุ่มที่เป็น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ หรือโรคไต
• ยากลุ่มบำรุงข้อเข่า ที่มีการประยุกต์ใช้เพื่อชะลอการเกิดข้อเข่าเสื่อม จะต้องมีส่วนผสมกลุ่มกลูโคซามีน (Glucosamine Sulphate) หรือกลุ่มไดอะเซอรีน (Diacerein) ปัจจุบันมีงานวิจัยแสดงถึงประสิทธิภาพในการลดอาการปวดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังคงจัดเป็นกลุ่มการรักษาทางเลือก ส่วนผสมอื่นที่พบเจอการใช้อย่างแพร่หลายในตลาด และหลักฐานยังมีความคลุมเครือจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสามารถช่วยได้หรือไม่

5.การรักษาโดยการฉีดยาเข้าข้อโดยการฉีดยาเสตียรอยด์ ควบคู่ไปกับการฉีดยากลุ่มน้ำไขข้อเทียม เป็นวิธีที่ใช้ในการรักษาคนไข้กลุ่มโรคข้อเข่าเสื่อมที่อาการปวดรุนแรงฉับพลัน หรือกลุ่มที่อาการปวดไม่ดีขึ้นจากการปฏิบัติการรักษาข้างต้น

6.การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือการใช้สเต็มเซลล์ เป็นการรักษาทางเลือก เพื่อซ่อมแซมข้อเข่าเสื่อมการศึกษางานวิจัยเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถพัฒนาได้ดีขึ้นอีก ทั้งยังสามารถคุมอาการปวดเข่าระยะยาวมากขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยเก็บข้อมูลมากกว่านี้ การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ผ่าตัดเป็นสิ่งที่คนไข้โรคข้อเข่าเสื่อม ควรลองปฏิบัติเป็นอย่างแรกแต่อย่างไรก็ตามในกลุ่มที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรงที่ประสบความล้มเหลวจากการรักษาโดยไม่ผ่าตัด อาจจำเป็นจะต้องพิจารณารับการรักษาโดยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหลังจากได้ปรึกษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

โรคALS ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
https://www.thaiquote.org/content/250578

สะอึกบ่อยและนาน ไม่ใช่แค่รำคาญ แต่อาจเกิดจากโรค
https://www.thaiquote.org/content/250545

สัญญานบอก“มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง”
https://www.thaiquote.org/content/250530