จากข้อมูลของ WHO ในปี 2020 พบว่าในประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 6 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด และโดยทั่วไปโอกาสการเกิดมะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ตลอดชีพ อยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งพบบ่อยในช่วงอายุ 55-65 ปี
แพทย์หญิงศันสนีย์ อังสถาพร สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นสาระความรู้ พร้อมคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับมะเร็งรังไข่ที่เกิดจากเยื่อบุผิว ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคุณผู้หญิงทุกท่าน
มะเร็งชนิดเยื่อบุผิวรังไข่ เกิดจากเซลล์ของรังไข่ที่เป็นมะเร็งเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งชนิดเยื่อบุผิวรังไข่ ได้แก่
- ไม่มีบุตร
เริ่มมีประจำเดือนมาเร็ว หรือประจำเดือนหมดช้า
มีน้ำหนักตัวมาก
ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภายนอกโดยไม่ได้รับโปรเจสเตอโรน
มีพันธุกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งรังไข่ เช่น BRCA1/2 mutation, Lynch syndrome
ใช้สาร talc
อาการของมะเร็งชนิดเยื่อบุผิวรังไข่
ผู้ป่วยที่วินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ อาจไม่มีอาการนำมาก่อนในระยะแรก หรือในกลุ่มที่มีอาการ อาจมาด้วยอาการ
• ปวดท้องน้อย
• คลำก้อนได้ที่ท้องน้อย
• ท้องโตมีน้ำในช่องท้อง
• แน่นท้อง ท้องอืด
• เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
• ปวดหลัง หรือขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติไปจากเดิม
ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองที่ได้ผลแม่นยำ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งรังไข่
เเต่ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดเยื่อบุผิวรังไข่ สามารถลดลงได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
• ผู้ที่ตัดท่อนำไข่
• ผู้ที่มีบุตร 1 คน ความเสี่ยงลดลง 30-40%
• ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด มากกว่าหรือเท่ากับ 5ปี ความเสี่ยงลดลง 50%
• ผู้ที่ทราบว่าครอบครัวมีประวัติโรคมะเร็งรังไข่, มะเร็งเต้านม หรือมียีนที่เพิ่มความเสี่ยง หากเข้ารับการตรวจทางพันธุกรรมก่อนที่จะเกิดโรค อาจมีเเนวทางในการป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ได้
แม้จะไม่มีวัคซีนป้องกันโรค หรือการตรวจคัดกรองที่เฉพาะเจาะจง แต่ในทางการแพทย์เองก็ยังแนะนำให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรองทางนรีเวชด้วยการคลำมดลูกและรังไข่ และ/หรือมีการ Ultrasound ร่วมด้วย ในทุก ๆ ปี เพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยความผิดปกติได้ตั้งเเต่ระยะต้น และเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว
การวินิจฉัยมะเร็งชนิดเยื่อบุผิวรังไข่
ประกอบด้วยกันหลายอย่าง ทั้งอาการนำของผู้ป่วย การตรวจร่างกายเบื้องต้น เเละตรวจภายใน ลักษณะและตำแหน่งของก้อนที่พบในอัลตราซาวด์ หากตรวจเเล้วพบว่าอาการและผลการตรวจเข้าได้กับโรคมะเร็งรังไข่ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่งตรวจค่ามะเร็ง การทำเอกซเรย์ปอด และการตรวจรังสีวินิจฉัยที่ละเอียดขึ้นต่อไป เช่น CT, MRI
การรักษา
การรักษาหลักของโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุนั้นจะเป็นการผ่าตัด เพื่อนำเนื้อมะเร็งออกไปให้ได้มากที่สุด และเพื่อบอกระยะของโรค ประกอบไปด้วย การตัดมดลูกและรังไข่ ต่อมน้ำเหลือง ไขมันที่คลุมช่องท้อง น้ำในช่องท้อง และตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่สงสัย ซึ่งการผ่าตัดในแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค เเละการประเมินของแพทย์ผู้ทำการรักษา ส่วนในกลุ่มที่อายุน้อย หรือยังไม่มีบุตร สามารถผ่าตัด โดยเก็บรักษามดลูกและรังไข่ในด้านที่ปกติไว้กับผู้ป่วยได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง เเละระยะของโรค
เมื่อทำการผ่าตัดเรียบร้อยแล้วชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าตัดจะถูกนำส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และเพื่อใช้พิจารณาการรักษาเพิ่มเติมต่อไปว่าผู้ป่วยจะต้องได้รับยาเคมีบำบัดหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค และความพร้อมด้านสุขภาพของผู้ป่วย ปัจจุบันมีคำแนะนำให้ผู้ป่วยที่วินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุ ควรเข้ารับคำปรึกษาด้านการตรวจทางพันธุกรรมทุกราย หากมีความเสี่ยงเเละตรวจพบความผิดปกติ จะทำให้สามารถกำหนดแนวทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
พบว่าอัตราการรอดชีพ 5 ปี ในระยะที่ 1, 2, 3 และ 4 อยู่ที่ 92, 75, 29 และ 11%
การติดตามหลังการรักษา
หลังรับการรักษาครบตามแผนที่กำหนด จะมีการนัดตรวจร่างกาย และตรวจติดตามค่ามะเร็งเป็นระยะๆ ทุก ๆ 2-4 เดือน เป็นเวลา 2 ปี จากนั้น ทุก ๆ 3-6 เดือน เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นทุก ๆ 1 ปี ส่วนการตรวจติดตามทางรังสีวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับอาการ และการตรวจร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก
“โรงพยาบาลนวเวช” มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดี และเข้าถึงง่าย (Accessible Quality Healthcare) พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพผู้หญิง (Women’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I Line: @navavej I www.navavej.com.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างไร?.. ให้ปลอดภัยและทำได้เอง
https://www.thaiquote.org/content/250201
เผยหญิงไทย ร้อยละ 37 มีภาวะโลหิตจาง แนะกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
https://www.thaiquote.org/content/250184
ม.มหิดลแนะวิธีง่าย กะปริมาณผักผลไม้ ลดเสี่ยงโรค
https://www.thaiquote.org/content/250159