“บิ๊กตู่” แย้มยุบสภาต้นมี.ค.นี้ ส่วนรัฐบาลจ่อรักษาการยาว 4 เดือนครึ่ง วางไทม์ไลน์ได้ครม.ใหม่ไม่เกินต้น ส.ค.66

“บิ๊กตู่” แย้มยุบสภาต้นมี.ค.นี้ ส่วนรัฐบาลจ่อรักษาการยาว 4 เดือนครึ่ง วางไทม์ไลน์ได้ครม.ใหม่ไม่เกินต้น ส.ค.66


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบการชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงตารางเวลา (ไทม์ไลน์) เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไปจนถึงการมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ด้านนายกฯ แย้มมีความเป็นไปได้ยุบสภาต้นมี.ค.นี้

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการยุบสภาในช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้ เพื่อให้กรอบเวลาการเลือกตั้งเป็นไปตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่วางไว้วันที่ 7 พ.ค. โดยจากนี้ไปจะมีการเร่งพิจารณากฎหมายสำคัญและบัตรสวัสดิการของรัฐให้ทันวันที่ 1 มี.ค.นี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง รวมถึงชี้แจงว่าสิ่งใดทำได้ และทำไม่ได้ แล้วตนได้แจ้งว่าจะยุบสภาในเดือนมี.ค. ส่วนกำหนดวันเลือกตั้งเป็นไปตามมติที่ กกต. ได้ประกาศไว้ คือ 7 พ.ค. 66 และในช่วงเวลานี้ ขอให้ทุกส่วนได้เตรียมความพร้อม เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากที่สุด

“ผมแจ้งในที่ประชุม (ครม.) ไปแล้ว กำหนดการยุบสภาก็ภายในเดือนมีนาคม กำหนดการเลือกตั้ง ก็เป็นตามที่ กกต.ประกาศไว้ คือ 7 พฤษภาคม…นายกฯ ไม่ต้องถ่วงอะไรใคร ถึงอย่างไรก็ทำงานทุกวัน ยุบไม่ยุบ ครม.ก็ประชุมเหมือนเดิม ก็รักษาการต่อจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ ได้ขอให้รัฐมนตรี และ ส.ส. ร่วมกันพิจารณากฎหมายที่สำคัญต่างๆ เพราะกฎหมายบางฉบับ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป

ส่วนกรณีที่ กกต. ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะส่งผลกระทบกับพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ ก็ขอทุกพรรคอย่าทำผิดกฎหมาย ซึ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของ กกต.ที่หวังดี อยากให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ตนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ แต่คิดว่าทุกคนก็ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ซึ่งตามกติกาใครรับผิดชอบตรงไหน ก็ให้ทำตรงนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นการให้ความเป็นธรรมกับทุกพรรค

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.66 ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หากสภาฯ ครบวาระ จะต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับตั้งแต่ครบวาระ แต่หากมีการยุบสภา กฎหมายระบุว่าต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45-60 วันหลังจากที่ยุบสภา ซึ่งไม่ว่าจะมีการยุบสภา หรือสภาฯ ครบวาระ ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนมี.ค.นี้

ส่วนการเลือกตั้งใหม่ คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ค.66 หลังจากนั้น จะประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านการรับรองทั้ง 500 คน ได้ราวต้น ก.ค.66

จากนั้น จะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเปิดสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการตั้งประธานสภาฯ คนใหม่ราวกลางเดือนก.ค.66

ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คาดว่าจะเป็นปลายเดือน ก.ค.66 และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ได้ในช่วงเดียวกัน

หลังจากมีนายกฯ คนใหม่แล้ว จะมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และนำรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาถึงต้น ส.ค. ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา หรือสภาฯ ครบวาระก็แล้วแต่ ครม.ชุดปัจจุบันจะต้องรักษาการต่ออีก 4 เดือนครึ่งจนถึงต้น ส.ค.66

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการนั้น จะรักษาการไปจนถึงวันที่ ครม.ใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ทั้งนี้ในเอกสารต่างๆ การใช้ตำแหน่งไม่จำเป็นต้องวงเล็บว่า (รักษาการ) โดยยังสามารถใช้ตามตำแหน่งเดิมได้อย่างปกติ ส่วนข้าราชการการเมือง ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เช่นเดียวกับครม.รักษาการ และจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ ครม.ชุดใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ

“ในระหว่างที่เป็นรัฐบาลรักษาการ หากมีรัฐมนตรีลาออก ก็จะไม่มีผลกระทบกับคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ยังสามารถประชุม ครม.ได้ และนายกฯ ยังมีอำนาจปรับ ครม.ได้ หากมีความจำเป็น ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สิน คณะรัฐมนตรีจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ภายใน 60 วันนับแต่ ครม.ใหม่ถวายสัตย์ฯ” นายอนุชา กล่าว

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.รักษาการ จะต้องไม่อนุมัติงาน หรืออนุมัติโครงการที่ผูกพัน ครม.ใหม่ เว้นแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะต้องไม่แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ หรือให้พ้นตำแหน่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. และไม่อนุมัติการใช้งบกลาง เว้นแต่ กกต.จะเห็นชอบก่อนเช่นกัน

นอกจากนี้ ครม.รักษาการ จะต้องไม่ใช้ทรัพยากร หรือบุคลากรของรัฐ กระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบ กกต. เช่น ไม่ใช่อำนาจหน้าที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น, ไม่จัดประชุม ครม.สัญจร, ไม่โอนงบประมาณเพื่อการแจกจ่ายของให้แก่ประชาชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เป็นต้น

นายอนุชา กล่าวว่า หลังจากที่ยุบสภา/สภาฯ ครบวาระแล้ว สภาผู้แทนราษฎร ก็จะสิ้นสุดลง แต่วุฒิสภา ยังมีอยู่ แต่ไม่สามารถจัดประชุมได้ เว้นแต่จะพิจารณาตั้งองค์กรอิสระ

ส่วนกรณีของร่างกฎหมายต่างๆ ที่ค้างอยู่ใน 2 สภา ทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภานั้น มีอยู่ 29 ฉบับ ซึ่งจะตกไปทันที และหลังเลือกตั้งไปแล้ว หากรัฐบาลต้องการจะหยิบมาพิจารณาต่อ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องยกมาพิจารณาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เปิดสภาฯ ชุดใหม่ ส่วนร่างกฎหมายที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว 11 ฉบับ ยังเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ

อย่างไรก็ดี หากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลยังสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ได้ ส่วนพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ที่เกี่ยวกับกฎกระทรวง ก็ยังสามารถดำเนินการได้เช่นกัน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

กทม.เตรียมเสนอ “สงกรานต์” เป็นมรดกวัฒนธรรมต่อยูเนสโก
https://www.thaiquote.org/content/249553

อิตาลีเผชิญภัยแล้งรอบใหม่ ขณะที่คลองในเวนิสแห้งขอด
https://www.thaiquote.org/content/249549

นวัตกรรมใหม่!…ผลิตไฮโดรเจนโดยตรงจากน้ำทะเล – ไม่ต้องแยกเกลือออกจากน้ำทะเล
https://www.thaiquote.org/content/249547