อุดฟันแล้วแต่ยังเสียวฟัน เกิดขึ้นได้มาจากหลายปัจจัย

อุดฟันแล้วแต่ยังเสียวฟัน เกิดขึ้นได้มาจากหลายปัจจัย

กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรมเผย อุดฟันแล้วแต่ยังเสียวฟันเกิดขึ้นได้ มีหลายปัจจัย เช่นความลึกของฟันผุ การหายของแผล วัสดุที่ใช้บูรณะ หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการแก้ไข

 

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง การอุดฟัน เป็นการบูรณะฟันเพื่อทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปจาก ฟันผุ ฟันแตก หรือวัสดุอุดฟันเก่าชำรุด ให้กลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมและใช้งานได้ปกติ โดยขั้นตอนการอุดฟันทันตแพทย์จำเป็นต้องกรอตัดเนื้อฟัน ทาสารที่มีความเป็นกรดอ่อน หรือฉายแสงที่อาจเกิดความร้อน ซึ่งขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ อาจทำให้ของเหลวในท่อเนื้อฟันเกิดการเปลี่ยนแปลง และกระตุ้นประสาทฟันในชั้นลึกๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับการอุดฟันแบบสีโลหะหรืออุดฟันแบบวัสดุสีเหมือนฟัน และยิ่งฟันผุใกล้โพรงประสาทฟันมากเท่าใด โอกาสเกิดภาวะเสียวฟันภายหลังการอุดฟันก็มีโอกาสเกิดมากขึ้นตามไปด้วย

ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการอุดฟันอาจเกิดภาวะเสียวฟันได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากขั้นตอนการอุดฟันที่ผุลึก ต้องมีการกำจัดเชื้อโรคและกรอเนื้อฟันก่อนการบูรณะฟัน เมื่อกรอเนื้อฟันลงไปลึกจนกระทั่งกระตุ้นโพรงประสาทฟัน อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันช่วงระยะเวลาสั้นๆ และอาการเสียวฟันนั้นจะค่อยๆลดลงภายใน 2-4 สัปดาห์ กรณีที่ฟันผุลึกมากและการอุดฟันไม่สามารถป้องกันเชื้อที่มีแนวโน้มทะลุโพรงประสาทฟันได้ทั้งหมด อาการเสียวฟันอาจรุนแรงหรือมีปวดฟันร่วมด้วย เนื่องจากเนื้อฟันและโพรงประสาทฟันไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งจำเป็นต้องรักษาคลองรากฟันและทำครอบฟัน อีกหนึ่งสาเหตุของอาการเสียวฟันจากกรณีที่วัสดุอุดฟันไม่แนบสนิทกับโพรงฟัน เนื่องจากธรรมชาติของวัสดุที่ใช้อุดฟันจะหดตัวลงหลังจากทำการอุดฟัน จนอาจเกิดรอยรั่วระหว่างชั้นวัสดุอุดและตัวฟัน ทำให้ของเหลวหรือเชื้อโรคผ่านเข้ารอยรั่วขนาดเล็กดังกล่าวไปกระตุ้นโพรงประสาทฟัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเสียวฟันระยะเวลาสั้นๆ ขณะรับประทานอาหารที่มีรสหวาน

นอกจากนี้การอุดฟันเพื่อทดแทนเนื้อฟันที่หายไป อาจทำให้จุดสบฟันภายหลังการอุดฟันมีการเปลี่ยนแปลง หรือการบดเคี้ยวอาหารแรงเกินไป การกัดเค้นฟัน อาจส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน และภายหลังการกรอแก้ไข หรือลดพฤติกรรมการกัดเค้นฟัน อาการเสียวฟันดังกล่าวจะค่อยๆลดลง ในบางกรณีที่ผู้ป่วยกัดแล้วเสียวฟัน และอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องหาสาเหตุของฟันร้าวร่วมด้วย ทั้งนี้อาการเสียวฟันของผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันในหลายปัจจัย หากอาการเสียวฟันไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 4 สัปดาห์ แนะนำให้มาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการแก้ไขต่อไป.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.มหิดล เตือนผู้ป่วยโรคเบาหวานเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ที่มากับฤดูหนาว
https://www.thaiquote.org/content/249288

กินไม่หยุด กินไม่รู้จักอิ่ม อาจเป็นโรคต้องรักษา
https://www.thaiquote.org/content/249279

“สวยบาดเจ็บ” เสี่ยงภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง จากการใส่ส้นสูง
https://www.thaiquote.org/content/249266