กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน

กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกสันหลังยุบในคนสูงอายุเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักมีความสัมพันธ์กับโรคกระดูกพรุน มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมากและใช้ชีวิตได้ลำบาก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีประวัติอุบัติเหตุหกล้มก้นกระแทกพื้น ในบางครั้งจะสามารถวินิจฉัยได้ยากและอาจส่งผลเสียร้ายแรงได้ ถ้าปล่อยไว้นานและไม่ได้รักษาให้ถูกต้อง

 

 

สาเหตุ
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง สาเหตุสำคัญเกิดจากความเปราะบางของเนื้อกระดูกสันหลังที่เกิดจากโรคกระดูกพรุน ทำให้เนื้อกระดูกเกิดการแตกหักได้ง่าย

นพ.ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “สาเหตุของโรคกระดูกพรุนเกิดจากหลายปัจจัยอาทิเช่น อายุ เพศ อาหาร กิจวัตรประจำวัน โรคประจำตัว ภาวะขาดแคลเซียมและวิตามินดี”

นพ.ชัยเดชกล่าวว่า ภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่มักเกิดในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยมากมักมีประวัติอุบัติเหตุหกล้มหลังหรือก้นกระแทก หรือในบางรายอาจไม่มีประวัติอุบัติเหตุเลยก็ได้

อาการ
โดยส่วนมากกระดูกสันหลังที่ยุบมักเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังช่วงอกส่วนล่างและกระดูกสันหลังเอวส่วนบน (Thoracolumbar Junction) ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอวส่วนบน โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนมักไม่เกิดการกดทับเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา ชาขา ขาอ่อนแรง และปัสสาวะหรืออุจจาระลำบากร่วมด้วยได้

นพ.ชัยเดช กล่าวว่า อาการปวดหลังจากกระดูกสันหลังยุบมักมีระดับความปวดค่อนข้างมาก อาการปวดมักไม่ทุเลาแม้ใช้ยาแก้ปวดประเภท Paracetamol และอาการปวดมักเป็นมากขึ้นเวลามีการขยับร่างกาย เช่น เวลาพลิกตัวบนเตียงในท่านอน หรือเวลาเปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นนั่งและจากท่านั่งเป็นยืน

ตรวจวินิจฉัย

โดยทั่วไปโรคกระดูกสันหลังยุบมักวินิจฉัยได้จากภาพ X-ray อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่ภาพ X-ray ไม่สามารถแสดงลักษณะกระดูกสันหลังยุบได้ชัดเจน อาจมีความจำเป็นต้องทำ MRI Scan เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยควบคู่กันไปคือโรค “กระดูกพรุน” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยความแข็งแรงของมวลกระดูก (Bone Mineral Density หรือการตรวจ BMD) ร่วมด้วยเสมอ

การรักษา
ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังยุบไม่มากและไม่มีอาการทางเส้นประสาทแพทย์มักจะเริ่มต้นการรักษาโดยการให้ยาระงับปวดทำกายภาพและใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังโดยส่วนใหญ่คนไข้มักจะมีอาการปวดที่ดีขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน

ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดมากมีอาการกดทับเส้นประสาทหรือมีการยุบตัวของกระดูกรุนแรงแพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณาการรักษาโดยวิธีผ่าตัดโดยมีตั้งแต่การรักษาโดยการฉีดซีเมนต์บริเวณที่กระดูกยุบ การผ่าตัดใส่สกรูเพื่อยึดดามกระดูก หรืออาจจำเป็นต้องทำทั้งสองอย่างร่วมกัน

นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ผลตรวจ BMD พบภาวะกระดูกพรุน จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบยาฉีดและยากิน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

การออกกำลังกายวิถีจีนเพื่อสุขภาพ
https://www.thaiquote.org/content/249376

ลดน้ำหนักอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
https://www.thaiquote.org/content/249365

แพทย์แนะรู้จักอาการปวดท้อง รู้ไว รักษาได้ตรงจุด
https://www.thaiquote.org/content/249313