นมอัลมอนด์ ดีต่อกาย ดีต่อใจ แต่ไม่ดีต่อผึ้ง ?

นมอัลมอนด์ ดีต่อกาย ดีต่อใจ แต่ไม่ดีต่อผึ้ง ?


กระแสการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ นอกจากเรื่องสุขภาพแล้วประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มาพร้อมกับการทานอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากอาหารเพื่อสุขภาพจำนวนไม่น้อยเกิดจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปราศจากสารเคมี

 

 

อัลมอนด์เป็นหนึ่งในพืชอันดับต้น ๆ ที่ถูกนำมาทำเป็นนมสำหรับการบริโภค เพื่อทดแทนการดื่มนมวัว ด้วยสาเหตุที่ว่า ‘นมอัลมอนด์’ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากกว่า และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทำให้อุตสาหกรรมอัลมอนด์เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าอุตสาหกรรมอัลมอนด์ก็กลับสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่ใช่น้อย กล่าวคือ การทำฟาร์มอัลมอนด์ได้เข้าไปรบกวนระบบนิเวศของผึ้ง ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผสมเกสร เพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ นั่นจึงทำให้เราต้องกลับมาทบทวนถึงสาเหตุและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเรายังคงดื่มนมอัลมอนด์ต่อไป

อุตสาหกรรมนมอัลมอนด์กับผลกระทบต่อระบบนิเวศของผึ้ง

ผึ้งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเกษตร ในเกือบทุกฟาร์มทั่วโลกล้วนอาศัยผึ้งในการช่วยผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์ให้กับพืช ด้วยความสามารถในการผสมพันธุ์ของผึ้ง ทำให้พวกมันสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้ นั่นจึงทำให้มีการเลี้ยงผึ้งเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นสำหรับเป็นแรงงานในฟาร์มโดยเฉพาะ

หนึ่งในฟาร์มที่พึ่งพาผึ้งมากที่สุดคือ ฟาร์มอัลมอนด์ เนื่องด้วยเทรนด์การบริโภคอัลมอนด์เพื่อสุขภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่ทั่วโลก หันมาปลูกอัลมอนด์เพิ่มมากขึ้น โดยพื้นที่ที่ส่งออกอัลมอนด์มากที่สุดในโลกคือ แคลิฟอร์เนีย คิดเป็น 81% ของอัลมอนด์ที่มีอยู่ทั่วโลก หรือราว ๆ 1 พันล้านตัน

ด้วยอุปสงค์อัลมอนด์ในตลาดที่สูงขึ้น ฟาร์มอัลมอนด์หลายแห่งจึงต้องเพิ่มผลผลิตและขยายพื้นที่ในการปลูกต้นอัลมอนด์ให้มากขึ้น หนึ่งสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อเพิ่มผลผลิต คือ การใช้สารทดแทนเกสรดอกไม้และน้ำหวาน อันเป็นวิธีการที่ทำให้ผึ้งสร้างรังใหม่ในช่วงฤดูหนาว ทั้ง ๆ ที่ฤดูหนาวเป็นฤดูที่ผึ้งควรจะจำศีล นั่นจึงทำให้วงจรชีวิตของพวกมันเกิดความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อระบบนิเวศด้วยเช่นกัน

กล่าวคือ เมื่อพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผึ้งเปลี่ยนไปจากปกติที่ต้องออกจากฤดูจำศีลในช่วงฤดูใบไม้ผลิเพื่อหาอาหาร ทว่ามันกลับต้องออกมาก่อนเวลา นั่นอาจทำให้ผึ้งเหล่านั้นตายลงได้ เพราะไม่สามารถหาอาหารได้ในฤดูหนาว ด้วยเหตุนี้การใช้สารแทนเกสรจึงเป็นวิธีการทำฟาร์มที่สร้างความแปรปรวนต่อวงจรชีวิตของผึ้งไม่น้อยเลยทีเดียว

อีกหนึ่งปัญหาที่พบในฟาร์มอัลมอนด์ คือ การใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชในการทำฟาร์ม โดยสารไกลโฟเสต (หรือที่รู้จักในชื่อ Roundup) เป็นสารเคมีชนิดสำคัญที่สุดในการปลูกต้นอัลมอนด์ ช่วยในการกำจัดศัตรูพืชที่สร้างผลเสียต่อการเจริญเติบโตของอัลมอนด์ โดยสารไกลโฟเสตนี้จะส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันและการสืบพันธุ์ของผึ้ง

ซ้ำร้ายสารเคมีดังกล่าวยังเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งในมนุษย์ด้วย ซึ่งในปี 2018-2019 ได้มีการสำรวจแล้วพบว่ามีประชากรผึ้งตายไปกว่า 5 หมื่นล้านตัว จากการใช้สารเคมีดังกล่าว ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ายิ่งสารเคมีเหล่านี้ถูกสาดไปยังต้นอัลมอนด์มากเท่าไหร่ ประชากรผึ้งก็จะลดลงมากเท่านั้น

ปัจจุบันประชากรผึ้งลดลงกว่า 30% ในแต่ละปี ทำให้ฟาร์มหลายแห่งเกิดปรากฏการณที่เรียกว่า Colony Collapse Disorder หรือ ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอดหลายปี และอาจทวีความรุนแรงขึ้นหากยังมีการใช้สารเคมีในการเกษตรและการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศของผึ้งอยู่ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาทั้งหมดจึงควรที่จะเริ่มที่การแก้ไขกระบวนการการปลูกอัลมอนด์ เพื่อที่จะแสวงหาวิธีอื่น ๆ ในการที่จะรักษาผลผลิตและชีวิตของผึ้งเหล่านี้เอาไว้

ข่าวร้ายที่น่าเศร้าคือ เรายังไม่มีวิธีการในการจัดการปัญหาการลดจำนวนของประชากรผึ้งในฟาร์มอัลมอนด์ได้อย่างเด็ดขาด

แต่ข่าวดีคือ ปัจจุบันนี้เรามีนมทางเลือกสำหรับสายสุขภาพนอกเหนือจาก ‘นมอัลมอนด์’ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากมายในซูเปอร์มาร์เก็ตให้เราได้เลือกสรร เราในฐานะผู้บริโภคจึงสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะนำมาบริโภค เพื่อทราบข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังการผลิต ซึ่งอาจมีกระบวนการบางขั้นตอนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เราจะได้หลีกเลี่ยงกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและเลือกผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่น ๆ ได้

ที่มา: ธนกฤต แดงทองดี , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

พืชและสัตว์อีก 31 ชนิดพันธุ์สูญพันธุ์แล้วตามข้อมูลล่าสุดจากบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น
https://www.thaiquote.org/content/249257

ความหลากหลายทางชีวภาพ: กระแสการสูญพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นในมาดากัสการ์
https://www.thaiquote.org/content/249223

หนูสามารถโยกหัวตามจังหวะได้ การวิจัยนี้อาจช่วยให้เข้าใจถึงพัฒนาการของสมองในการรับรู้จังหวะ
https://www.thaiquote.org/content/249212