ผู้เชี่ยวชาญชี้คนไทยยังละเลยโรคไขมันในเลือดสูง ย้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญไม่แพ้เบาหวานและความดันโลหิตสูง
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและพิการในประเทศไทยตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากเอกสารนำเสนอข้อมูล “การปรับภูมิทัศน์นโยบายการเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบจำนวนผู้ป่วย 8.4 รายต่อประชากร 100 คน ซึ่งมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง
ทั้งนี้ แม้ทั้ง 3 สาเหตุจะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากพอกัน แต่คนไทยกลับให้ความสำคัญกับภาวะไขมันในเลือดสูงน้อยกว่าที่ควร เพราะเชื่อว่าหากตรวจพบ LDL-C (Low Density Lipoprotein Cholesterol) หรือไขมันชนิดไม่ดีสูง สามารถแก้ไขได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ทำให้ละเลยการพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม สิ่งนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภาวะไขมันในเลือดสูงมีอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในบรรดาปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด จึงเป็นประเด็นที่ควรใส่ใจมากกว่าที่คิด ทั้งในการให้ความรู้แก่ประชาชน และในเชิงนโยบายเพื่อเข้าถึงการรักษา
เพื่อร่วมเสนอแนะแนวทางจัดการปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดให้ดียิ่งขึ้น ในเอกสารนำเสนอข้อมูล “การปรับภูมิทัศน์นโยบายการเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย” จึงมีรายละเอียดและแผนงานต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ การปรับวิถีชีวิต การป้องกัน การคัดกรองและวินิจฉัย รวมถึงความต่อเนื่องในการรักษา เพื่อให้ครอบคลุมการรับมือและรักษาโรคไขมันในหลอดเลือดให้ดียิ่งขึ้น เช่น การขยายกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมภาวะไขมันในเลือดสูง การกระตุ้นให้มีตัวเลือกในการใช้ชีวิตและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การรวมเอาภาวะไขมันในเลือดสูงไว้ในแอปพลิเคชัน Know Your Numbers ของกรมควบคุมโรค การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้ยาใหม่ๆ การนำยาที่ออกฤทธิ์นานเข้ามาใช้เพื่อลดความถี่ของการเฝ้าติดตาม รวมถึงการจัดโครงการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของโรคเหล่านี้และมีการทำงานอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ปัจจุบันเราเพิ่มการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่เรียกว่า CVD Risk Score และโรคที่เป็นความเสี่ยง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เช่น การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม. นอกจากนี้เรายังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ Lipid Home Use Test มาใช้เพื่อตรวจคัดกรองโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองด้วยตนเองได้ที่บ้าน เมื่อสามารถตรวจคัดกรองได้สะดวกขึ้น ทราบผลเร็วขึ้น ประชาชนก็จะเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย ดูแล และรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตด้วย”
ศ.เกียรติคุณ นพ. อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้เขียนร่วมของเอกสารนำเสนอข้อมูลนี้ กล่าวว่า “หากเปรียบเทียบ 3 ปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด ผลสำรวจพบว่าคนไทยตื่นตัวกับโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไทยได้ยินและรู้จักเกี่ยวกับสองโรคนี้กันมานาน จึงกลัวว่าตนเองจะเป็น แต่เมื่อตรวจพบไขมันในเลือดสูงกลับไม่ค่อยกลัว สาเหตุเป็นเพราะแนวคิดเรื่องภาวะไขมันในเลือดสูงต้องได้รับการรักษานั้น เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทำให้ที่ผ่านมานโยบายป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดจึงไปเน้นที่การป้องกันความดันโลหิตสูง เราจึงต้องสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพหรือ Health Literacy เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ แพทย์จำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการรับยาเพื่อควบคุมไขมัน เพราะการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากผู้ป่วยในการรักษาอย่างต่อเนื่อง”
นอกเหนือจากเรื่องการตระหนักรู้แล้ว การแก้ไขภาวะไขมันในเลือดสูงยังมีความท้าทายจากวิถีชีวิตยุคใหม่ ทำให้พบภาวะไขมันในเลือดสูงในคนอายุน้อยลง ในประเด็นนี้ ศ.เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมเขียนเอกสารนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้ความเห็นว่า “ถ้าเราบอกให้คนไทยเปลี่ยนวิธีการกิน แต่ในสภาพแวดล้อมรอบตัวยังเต็มไปด้วยอาหารที่มีไขมันเยอะและเข้าถึงง่าย การปรับอาหารการกินก็คงจะทำได้ยาก ดังนั้นการปรับวิถีชีวิตจึงจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมด้วย เรื่องนี้อาจต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในการออกนโยบายเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ในกรณีที่มีร้านอาหารในสถานที่ทำงาน ก็ควรกำหนดให้มีทางเลือกของเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย เพราะปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตโดยกินอาหาร 2-3 มื้อในสถานที่ทำงาน ส่วนในที่อื่นๆ เราก็ต้องเข้าไปดูว่าควรจะปรับสภาพแวดล้อมอย่างไรเพื่อให้คนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ภาครัฐต้องมีนโยบายหลายๆ ด้านเพื่อมาสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะเห็นตัวเลขการเกิดของโรค NCD สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นภาระทางการแพทย์ที่กระทบต่อประเทศ”
ในด้านการคัดกรองและวินิจฉัย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบครอบคลุม ทำให้ในผลการสำรวจระหว่างปี 2547-2557 มีคนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราการวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูงยังคงต่ำกว่าโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอยู่ โดยอยู่ที่ 37.5% เทียบกับโรคเบาหวานที่ 69.4% และโรคความดันโลหิตสูงที่ 51.2% ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดการรณรงค์ที่มีเป้าหมายเฉพาะสำหรับภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้ประชาชนทั่วไปมองว่าการควบคุมระดับ LDL-C หรือไขมันชนิดไม่ดี มีความสำคัญน้อยกว่าการควบคุมระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด
ในแง่ของการรักษาและความต่อเนื่อง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การควบคุมระดับ LDL-C ในคนไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คือกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดยังเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ได้น้อย โดย รศ.ภก. สุรกิจ นาฑีสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เขียนร่วม อธิบายว่า “แม้จะมีนวัตกรรมในการรักษา เช่น ในรูปแบบยาฉีดที่สะดวกและง่ายขึ้น รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูงเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นๆ จนทำให้สามารถลดระดับไขมันชนิดไม่ดีลงได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่อุปสรรคที่พบคือเมื่อเป็นยาใหม่มักมีประเด็นในเรื่องราคา จึงไม่ถูกนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพของประเทศ ประชาชนทั่วไปก็เข้าไม่ถึง และจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนที่สามารถจ่ายค่ายาได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การเข้าถึงนวัตกรรมในการรักษายังจำกัดอยู่ในวงแคบ”
ภญ. สุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การรับมือโรคหัวใจและหลอดเลือดต้องอาศัยความร่วมมือแบบองค์รวม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โนวาร์ตีสมีเป้าหมายในการช่วยให้ประชาชนตระหนักรู้มากขึ้นถึงสาเหตุ การป้องกัน และการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะภาวะไขมันในเลือดสูงที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโอกาสในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เราพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี”.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
6 สมุนไพรและอาหารเสริมที่ดีที่สุดสำหรับความดันโลหิตสูง
https://www.thaiquote.org/content/249190
ตอบคำถาม กินวิตามินทุกวันอันตรายไหม ต้องกินอย่างไร
https://www.thaiquote.org/content/249175
ถุงลมโป่งพอง ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงเป็นได้
https://www.thaiquote.org/content/249145