ติดหวาน (Sugar Blues) หรือภาวะเสพติดน้ำตาล คือร่างกายมีความต้องการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอยู่ตลอดเวลา หากไม่ได้ทานจะแสดงอารมณ์ที่ผิดปกติ จากการหิวโหย โดยเฉพาะช่วงเวลาประมาณสิบโมงเช้า และบ่ายสามโมง หากยังไม่เลิก หรือทำการแก้ไขสภาวะนี้ จะทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโรคร้ายต่างๆ
สาเหตุของอาการติดหวาน
พฤติกรรม
เมื่อรับประทานของหวานเข้าไปแล้ว จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่ชื่อว่า โดพามีน จนเกิดการเสพติด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในผู้ที่ประสบกับภาวะเครียดเรื้อรัง นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ตามกลไกของธรรมชาติจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ขาดสมดุล ความอยากรับประทานอาหารหวาน หรือมีไขมันสูงจึงมีมากขึ้น รับประทานในปริมาณมากเท่าใดก็ไม่อิ่ม หากรสชาตินั้นไม่หวานจัด
กรรมพันธุ์
ผู้ที่ประสบภาวะเสพติดน้ำตาล บางรายมียีน (Gene) ที่ติดความหวานมาจากบรรพบุรุษ รวมทั้งความแตกต่าง การเลี้ยงดูแลบุตรหลานของแต่ละบ้านก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของการรับประทานอาหาร หากพ่อ แม่ ไม่มีวินัยในเรื่องของโภชนาการ ก็เป็นเรื่องที่ยากจะปลูกฝังให้เด็กเป็นคนรักสุขภาพ
อาการติดหวาน
• รับประทานอาหารที่มีรสชาติหวานเป็นประจำ
• เติมน้ำตาลลงในอาหารเพิ่มเติม
• หิวบ่อย คิดถึงเมนูอาหารหวานตลอด
• มักจะมีอาหาร และเครื่องดื่มเต็มอยู่ภายในตู้เย็น
• เลือกดื่มน้ำที่มีรสหวานมากกว่าน้ำเปล่า
• รับประทานผลไม้ตากแห้ง ดอง แช่อิ่มหรือผลไม้สดรสหวานจัด เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก
• หากรับประทานของที่ไม่ถูกปากจะมีอาการ หงุดหงิด เหนื่อยล้า หดหู่ เศร้าผิดปกติ หรืออารมณ์เสีย
ติดหวานเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง
• โรคอ้วน
• โรคหัวใจ
• เบาหวาน
• ความดัน ไขมัน และกรดยูริกในเลือดสูง
• ไขมันพอกที่บริเวณตับ และไต
• โรคเกาต์
• ฟันผุ
ติดหวานแก้ไขอย่างไร
• สังเกตปริมาณน้ำตาล และวัตถุดิบบนฉลากผลิตภัณฑ์ ทุกครั้งก่อนรับประทาน
• ไม่ปรุงนํ้าตาลในอาหารเพิ่มเติม
• หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม
• ดื่มน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาล
• รับประทานผลไม้หวานน้อย เช่น ชมพู่ แตงโม ฝรั่ง
• หลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้แปรรูป เช่น กล้วยตาก มะม่วงแช่บ๊วย
• เพิ่มปริมาณผักใบเขียวในอาหาร เพราะมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมนํ้าตาล ส่งผลให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• ไม่ซื้อขนมตุนไว้ในตู้เย็น
• ไม่อดอาหาร รับประทานอย่างตรงต่อเวลา และถูกหลักโภชนาการ
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดการบริโภคน้ำตาลไว้ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา อีกทั้งยังควรควบคุมสารอาหารประเภทแป้ง โซเดียม ไขมัน และแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้หากรับประทานมากเกินไปก็ก่อให้เกิดโรคได้เช่นกัน หากรู้สึกว่าตนเองเครียด กรุณาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ควรนอนหลับพักผ่อน วางแผนการทำงานให้ดีขึ้น หรือไปออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพดีกว่า.
ที่มา: โรงพยาบาลเพชรเวช
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
อยากเริ่มวิ่ง…เตรียมตัวอย่างไรดี?
https://www.thaiquote.org/content/249107
จักษุแพทย์แนะฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัย ระวัง “เบาหวานขึ้นจอตา” โรคใกล้ตัวผู้ป่วยเบาหวาน
https://www.thaiquote.org/content/249089
5 ประโยชน์ของโปรตีนจากพืช ดีต่อสุขภาพ อิ่มนาน ดูดซึมง่าย
https://www.thaiquote.org/content/249075