จักษุแพทย์แนะฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัย ระวัง “เบาหวานขึ้นจอตา” โรคใกล้ตัวผู้ป่วยเบาหวาน

จักษุแพทย์แนะฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัย ระวัง “เบาหวานขึ้นจอตา” โรคใกล้ตัวผู้ป่วยเบาหวาน

ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นช่วงที่หลายต่อหลายคนตั้งตารอ เพราะนอกจากจะได้หยุดยาวหลายวันต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้พบปะครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา จนเลี่ยงไม่ได้ที่จะกินเลี้ยงสังสรรกัน หรือรับกระเช้าของขวัญ-ของฝาก ซึ่งมักเต็มไปด้วยอาหาร ขนมเค้ก คุกกี้ ช็อคโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และของน้ำตาลสูงอีกนานาชนิด

 

 

ทั้งนี้ จักษุแพทย์เป็นห่วงผู้ที่มีภาวะเบาหวาน หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และการประกอบอาชีพ

สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) รายงานว่าพบผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกมากกว่า 425 ล้านคน และคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2588 อาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 629 ล้านคน สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยเผยว่าอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานปัจจุบันอยู่ที่ราว 4.4 ล้านคน และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากโรคนี้จะนำมาซึ่งอัตราการเสียชีวิต 200 รายต่อวัน ยังพบว่าผู้ป่วยที่ดูแลร่างกายไม่ดีมักเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่สำคัญจนอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้ เรียกว่า “โรคเบาหวานขึ้นจอตา” (Diabetic Retinopathy) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 31.4 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดในประเทศ

นายแพทย์กฤติเดช เดชะคุปต์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวถึงโรคเบาหวานขึ้นจอตาว่า “ในระยะแรก ผู้ป่วยเบาหวานอาจไม่รู้ตัวและละเลยการตรวจสายตา เพราะไม่รู้สึกถึงอาการผิดปกติใดๆ แต่ถ้าหากปล่อยให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หลอดเลือดขนาดเล็กที่นำเลือดมาเลี้ยงจอประสาทตาจะค่อยๆ เกิดอาการผิดปกติ ร่างกายจึงพยายามสร้างเส้นเลือดขึ้นทดแทน แต่เส้นเลือดที่สร้างขึ้นใหม่นี้มักไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมและนำไปสู่การรั่วของน้ำและเม็ดเลือด ส่งผลให้เซลล์รับภาพเสียหาย ทำให้กว่าผู้ป่วยเบาหวานจะมาปรึกษาแพทย์ก็มักรู้สึกถึงสายตาเลือนราง มีคุณภาพการมองเห็นที่แย่ลงแล้ว หากปล่อยโรคเบาหวานขึ้นจอตาไว้โดยไม่รักษา ผู้ป่วยอาจถึงขั้นตาบอดได้”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอตาพัฒนาไปมาก แพทย์หญิงวีรยา พิมลรัฐ จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า “ในอดีตมีเพียงเลเซอร์ที่ช่วยประคับประคองการมองเห็นไม่ให้แย่ลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เลเซอร์ไม่สามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ ต่อมาเริ่มมีการฉีดยาเข้าวุ้นตาเพื่อยับยั้งการสร้างหลอดเลือดงอกที่ผิดปกติ ซึ่งผลการวิจัยทางวิชาการรับรองว่ายาฉีดช่วยให้การมองเห็นของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่แนวทางการรักษานี้ยังพบข้อจำกัดในเรื่องความถี่ในการฉีดยา เพราะอาจต้องฉีดยาทุก 1 – 4 เดือนขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย”

“ดังนั้น การที่ต้องเข้ารับการรักษาและถูกฉีดยาเข้าลูกตาบ่อยๆ อาจสร้างภาระการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลได้ ทั้งนี้ นวัตกรรมการรักษาด้วยยาฉีดทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะยาไม่เพียงแต่ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดที่ผิดปกติ แต่ยังมีกลไกการออกฤทธิ์เพิ่มเติม ซึ่งทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในชั้นจอตาแข็งแรง เทคโนโลยีนี้ช่วยลดความถี่ในการฉีดยาลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเข้ามารับการรักษาทุก 3-4 เดือนเท่านั้น ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมทั้งยังช่วยให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น”

นอกจากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับน้ำตาลสะสมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว นายแพทย์ ชเนศ สุวรรณมณี จักษุแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้าง โรงพยาบาลสมิติเวช ยังฝากคำแนะนำเพื่อการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล “ในฐานะจักษุแพทย์ยังอยากเชิญชวนให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพดวงตา และเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบากวานขึ้นจอตาอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน แม้จะยังไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม เพราะหากเรารู้เท่าทันโรคและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยลดความรุนแรงหรือชะลอความเสื่อมของสายตาได้ ส่วนผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรสนับสนุนการควบคุมอาหาร การกินยาหรือการฉีดยาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อีกทั้ง ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์สาขาต่อมไร้ท่อและจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ”

การเฉลิมฉลองเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงกิจกรรมสังสรรค์หรือเคร่งครัดกับการควบคุมอาหารมากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลหมดสนุกได้ วิธีที่จะช่วยให้มีความสุขกับช่วงเวลาพิเศษนี้ได้โดยที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ก็คือการวางแผนการรับประทานอาหาร รวมถึงปรึกษาจักษุแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน หากมีความกังวลหรือมีคุณภาพการมองเห็นผิดไปจากปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

5 ประโยชน์ของโปรตีนจากพืช ดีต่อสุขภาพ อิ่มนาน ดูดซึมง่าย
https://www.thaiquote.org/content/249075

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) … สังเกตอย่างไร?
https://www.thaiquote.org/content/249040

บทเรียนโควิด-19! ไม่มีวัคซีนเทพ เป็นแล้วเป็นอีกได้ ความรุนแรงลดลง
https://www.thaiquote.org/content/248968