อาการ “มือชา” ไม่ควรเฉื่อยชา อาจลามเป็นเรื่องใหญ่

อาการ “มือชา” ไม่ควรเฉื่อยชา อาจลามเป็นเรื่องใหญ่

เวลาที่เราพูดถึงอาการ “มือชา” สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการที่เส้นประสาทถูกกดทับ (compressive neuropathy) หากนึกไม่ออกให้นึกถึงเวลาที่เรานั่งทับขาตัวเองนานๆ เส้นประสาทก็จะถูกกดทับไปด้วย ทำให้มีอาการชา หรือเป็นเหน็บขึ้นที่บริเวณปลายขาปลายเท้า

 

 

ซึ่งสาเหตุของมือชาที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับนั้น เกิดจากเส้นประสาทที่เดินทางมาที่มือจำเป็นต้องผ่านช่องแคบๆ ซึ่งบริเวณนี้เองเส้นประสาทมีความเสี่ยงที่จะถูกกดทับหรือโดนเบียดจากเพื่อนที่อยู่ข้างๆ เช่น เอ็น หรือ พังผืด

โดยการกดทับนั้น เกิดได้จากการที่มีการขยับใช้งานส่วนนั้นซ้ำๆ บ่อยๆ หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต่างเป็นกิจกรรมแสนธรรมดาในชีวิตประจำวัน เช่น เขียนหนังสือ ทำงานบ้าน ใช้คอมพิวเตอร์ ทำอาหาร นวดขนมปัง ทำสวน เป็นต้น

ซึ่งระดับของอาการชามือมีตั้งแต่เล็กน้อย ไม่ได้รบกวนชีวิตเรามากนัก จนไปถึงชามือตลอดเวลา นอกจากอาการชา ยังมักพบว่ามีอาการปวดแปลบๆ หรือปวดตื้อๆ ซึ่งเป็นลักษณะอาการปวดจากเส้นประสาท (neuropathic pain) ร่วมด้วย

อาการ มือชา บอกโรค

1. ชาปลายมือและปลายเท้า อาจเกิดจากอาการปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม หรือภาวะขาดวิตามินบี 1 บี 6 หรือบี 12 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคไต โรคมะเร็ง และจากยาหรือสารพิษ เป็นต้น
2. ชาเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งซีก (ซีกที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง) นอกนั้นไม่มีอาการชา อาจเป็นสัญญาณของโรคเส้นประสาทมือถูกบีบรัด เนื่องจากเยื่อหุ้มเอ็นที่อยู่ในช่องใต้กระดูกมือบวม หรือกระดูกมือโตทำให้ช่องใต้กระดูกมือแคบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรืออาจเกิดจากแผ่นพังผืดเสื่อม และหนาตัวขึ้น
3. ชานิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และอาจมีอาการปวดมือ ปวดร้าวไปถึงแขนด้วย นั่นอาจหมายถึงสัญญาณของโรคเส้นประสาทกดทับที่ฝ่ามือ โดยเกิดจากการใช้งานมือในลักษณะการเกร็งอยู่นาน ๆ ในท่าเดิม เช่น การจับมีด กรรไกร ไดร์เป่าผม คอมพิวเตอร์ ซึ่งมักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า
4. ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และด้านข้างฝ่ามือ (สันมือ) อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณข้อศอกถูกกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งก็ควรเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาดังกล่าว
5. ชาง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ อาจเกิดจากเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขน แนะนำให้เปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการเอาแขนพาดพนักเก้าอี้
6. ชาที่นิ้วก้อย อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณรักแร้ที่ยาวไปถึงนิ้วก้อย สาเหตุจากงอและเกร็งข้อศอกเพื่อถือหูโทรศัพท์เป็นเวลานาน

 

 

ที่มา: https://kdmshospital.com, https://www.vejthani.com/

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

Superfood กินบำรุงหัวใจให้ฟิตรับปีใหม่
https://www.thaiquote.org/content/248898

ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคตับ
https://www.thaiquote.org/content/248929

วิธีดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
https://www.thaiquote.org/content/248904