หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ไม่คาดคิดอย่างคนในครอบครัวหัวใจหยุดเต้น พบคนหมดสติจากการที่หัวใจหยุดเต้น สิ่งที่ต้องทำโดยเร็วที่สุดคือการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นกระทันหันอย่างถูกวิธี เพื่อจะได้เพิ่มโอกาสรอดชีวิต
ทำไมหัวใจหยุดเต้น
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ จากโรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า หัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุดคือโรคหัวใจ โดยเฉพาะ
1. ลิ่มเลือดอุดตัน เส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลัน จากการที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นหากขาดการรักษาอย่างทันท่วงที
2. หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง อาจเต้นช้าผิดปกติหรือเต้นเร็วผิดปกติ หรือทั้งเต้นช้าและเต้นเร็วสลับกัน อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
3. กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติตั้งแต่กำเนิด สามารถพบได้ในคนอายุน้อย เกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่าง ผนังหัวใจจะหนามากจนปิดกั้นการสูบฉีดเลือด เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง จนทำให้หัวใจหยุดเต้นฉับพลันได้
สังเกตอาการหัวใจหยุดเต้น
อาการหัวใจหยุดเต้นมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้า แต่อาจมีเพียงอาการเจ็บหน้าอกที่นำมาก่อนได้ในบางกรณี ซึ่งลักษณะการเจ็บหน้าอกจะเจ็บแบบเฉพาะเจาะจง เจ็บแน่น ๆ ตรงกลางค่อนไปทางด้านซ้าย ร้าวไปที่แขนซ้าย หรือเจ็บบริเวณลิ้นปี่ โดยอาการจะเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงอย่างขึ้นบันได เดิน รวมถึงตกใจสุดขีด โดยจะเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก ใจสั่น หน้าซีดคล้ายจะเป็นลมหรือหมดสติ
5 ขั้นตอนปฏิบัติเมื่อหัวใจหยุดเต้น
ถ้าเห็นคนจะเป็นลม แน่นหน้าอก เหงื่อแตก ล้มฟุบลงไป ให้สงสัยว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้น ควรรีบเข้าไปช่วยเหลือทันทีตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 ตั้งสติและสังเกตดูความปลอดภัย ผู้ให้การช่วยเหลือต้องตั้งสติ พยายามไม่ตกใจ ดูเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นตรวจสอบก่อนเข้าช่วยเหลือ หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ ตึกถล่ม ห้ามเข้าไปช่วยเหลือโดยเด็ดขาด ควรรอดูสถานการณ์ให้ปลอดภัยแล้วเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังสถานที่ปลอดภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้น จัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงดังและตบที่ไหล่ทั้งสองข้าง เพื่อดูการตอบสนองว่าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่ จากนั้นหากผู้ป่วยตื่นหรือรู้สึกตัว ให้จัดท่านอนตะแคง
ขั้นตอนที่ 3 ฟังเสียงหายใจและดูจังหวะการหายใจที่หน้าอก เพื่อตรวจดูว่าผู้ที่หัวใจหยุดเต้นหายใจหรือไม่ โดยเอียงหูลงไปแนบใกล้ปากและจมูกของผู้ป่วยเพื่อฟังเสียงหายใจ ใช้แก้มเป็นตัวรับสัมผัสลมหายใจที่อาจออกมาจากจมูกหรือปากของผู้ป่วยและใช้ตาจ้องดูการเคลื่อนไหวที่หน้าอกของผู้ป่วยว่ากระเพื่อมขึ้นลงเป็นจังหวะหรือไม่
ขั้นตอนที่ 4 ร้องขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 ว่ามีคนหมดสติ ไม่หายใจ ระบุสถานที่เกิดเหตุ ขอรถพยาบาลและเครื่อง AED พร้อมระบุชื่อและเบอร์โทรศัพท์คนที่ติดต่อ เพราะยิ่งช่วยได้เร็วยิ่งดี
ขั้นตอนที่ 5 เริ่มทำ CPR หากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ต้องปั๊มหน้าอกให้ลึกพอที่แรงกดจะไปเอาเลือดออกจากหัวใจได้ ซึ่งต้องกดลงไปบริเวณกระดูกหน้าอกลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว เพื่อให้แรงมากพอที่จะทำให้เลือดในหัวใจบีบออกมาและจังหวะต้องเหมาะสมคือประมาณ 100 ครั้งต่อนาที
การช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นนั้นจะมีเวลาอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 นาที หากเกินจากนี้เลือดจะไม่ไปเลี้ยงสมองและเสียชีวิตได้ จึงควรรู้ขั้นตอนในการช่วยชีวิตอย่างถูกวิธี เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ที่หัวใจหยุดเต้น นอกจากนี้หากคนในครอบครัวมีความเสี่ยงโรคหัวใจควรต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปีและควรเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น.
ที่มา: โรงพยาบาลกรุงเทพ
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง” ภัยร้ายที่ผู้หญิงทุกวัยไม่ควรละเลย
https://www.thaiquote.org/content/248838
ทดสอบการแพ้อาหาร เช็กให้ชัวร์ก่อนกิน
https://www.thaiquote.org/content/248815
โยคะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้หรือไม่?
https://www.thaiquote.org/content/248636