นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง (อังกฤษ: White-eyed River-Martin, ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae ) เป็นนกจับคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์นกนางแอ่น พบบริเวณบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาวเพียงแห่งเดียวในโลก แต่อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีสีดำออกเขียวเหลือบ ตะโพกขาว หางมีขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย วงรอบตาสีขาวหนา ปากสีเหลืองสดออกเขียว ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนไม่ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมา สีขนออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย พฤติกรรมเป็นที่ทราบน้อยมากรวมถึงแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ คาดว่าเหมือนนกนางแอ่นชนิดอื่นที่บินจับแมลงกินกลางอากาศ และเกาะคอนนอนตามพืชน้ำในฤดูหนาว
ลักษณะ
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีความยาวจากปากจดหางประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณตะโพกสีขาวแยกบริเวณหลังสีดำเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มและตอนบนของหางสีเดียวกันออกจากกัน หัวสีเข้มกว่าหลัง บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลมแต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม.ปลายแผ่เล็กน้อย มองเห็นได้ชัดเจน
ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตาและม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อ ๆ ปากกว้างสีเหลืองสดแกมเขียว มีแต้มสีดำรูปโค้งที่ปากบน ขาและเท้าใหญ่แข็งแรงมีสีชมพู ไม่ส่งเสียงร้องในฤดูหนาว และเสียงร้องในช่วงผสมพันธุ์ยังไม่ทราบ
ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน นกวัยอ่อนมีหัวสีน้ำตาล คอแกมขาว ลำตัวออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย ไม่มีขนเส้นเรียวเล็กที่ปลายหาง นกวัยอ่อนจะผลัดขนในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
อุปนิสัย
แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรนั้นยังไม่มีการค้นพบ จึงไม่ทราบในชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนกเลย แต่คาดกันว่ามันน่าจะคล้ายกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดยทำรังตามโพรงบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำ วางไข่ชุดละ 2-3 ฟอง อาจเป็นในเดือนเมษายน-พฤษภาคมก่อนฝนจากมรสุมจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น แต่ความแตกต่างทางกายวิภาคของรูปร่างเท้าและขาทำให้รู้ว่ามันไม่สามารถขุดโพรงได้ ในฤดูหนาวพบว่ามันเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่น ๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อและใบสนุ่น บางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อน
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรกินแมลงเป็นอาหารเหมือนกับนกนางแอ่นชนิดอื่นรวมถึงพวกด้วงด้วย มันจับเหยื่อโดยการโฉบจับในอากาศ จากขนาดและโครงสร้างปากที่พิเศษของนก มันอาจกินแมลงที่ตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น นกชนิดนี้มีลักษณะการบินที่ บินเรื่อย ลอยตัว ไม่รวดเร็วเท่านกนางแอ่นชนิดอื่น และก็เหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาที่ไม่ค่อยมีพฤติกรรมเกาะคอน จากรูปทรงเท้าที่ผิดไปจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการที่พบโคลนที่เท้าในตัวอย่างหนึ่งของนกชนิดนี้แสดงว่านกชนิดนี้อาจจะอยู่บนพื้นมากกว่าเกาะคอน
พาเมลา ซี. รัสมูสเซน (Pamela C. Rasmussen) เสนอว่าด้วยดวงตาที่ใหญ่ผิดปกติ นกชนิดนี้อาจหากินเวลากลางคืนหรืออย่างน้อยก็ช่วงพลบค่ำหรือรุ่งเช้า ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้มันดูลึกลับและอธิบายได้บางส่วนว่าทำไมนกที่เหลือถึงไม่พบเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าข้อเท็จจริงที่คาดว่าตัวอย่างแรกจับมาได้ขณะเกาะคอนในเวลากลางคืนในพงอ้ออาจจะขัดแย้ง แต่อาจเป็นไปได้ว่ามันไม่ได้ถูกจับขณะเกาะคอน หรือพฤติกรรมของมันอาจจะสามารถหากินได้ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือสภาวะแวดล้อม
แหล่งที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบในบริเวณบึงบอระเพ็ด เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม คาดว่าถิ่นอาศัยในช่วงฤดูหนาวจะเป็นบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำจืดที่เปิดโล่งเพื่อสำหรับหาอาหาร และมีอ้อและพืชน้ำสำหรับจับคอนนอนในเวลากลางคืน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจเป็นนกอพยพ แต่พื้นที่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบ อาจเป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านอย่างภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน อย่างไรก็ตามมีการอ้างว่าลักษณะของนกชนิดนี้ในม้วนภาพเขียนจีนนั้นคล้ายกับนกแอ่นทุ่งใหญ่ (Glareola maldivarum) มีการเสนอว่าเป็นไปได้ที่ประเทศกัมพูชาและพม่าเป็นถิ่นอาศัยของนกชนิดนี้ และยังมีข้อสงสัยว่ามันจะเป็นนกอพยพเสียทั้งหมดหรือไม่
ถ้าถิ่นอาศัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ถิ่นอาศัยจะเป็นป่าในหุบเขาที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน มีตลิ่งทรายและเกาะสำหรับทำรัง และมีป่าไม้มากพอที่นกจะสามารถจับแมลงกินได้
สถานภาพในปัจจุบัน
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลกคือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จากรายงานการพบเห็นในปี พ.ศ. 2515, 2520 และ 2523 และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน แม้จะมีรายงานว่าพบนกในปี พ.ศ. 2529 แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง มีการประมาณจำนวนของนกชนิดนี้ว่าลดลงหรือจะลดลงถึง 80% ภายในสามรุ่น IUCN จะไม่พิจารณาว่านกชนิดสูญพันธุ์จนกว่าได้ดำเนินการสำรวจเป้าหมายครอบคลุมแล้ว แต่นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) นอกจากนี้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อีกด้วย
สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์
ประชากรในธรรมชาติของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเชื่อว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นนกชนิดโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แม้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่ก็ยังถูกจับไปพร้อม ๆ กับนกนางแอ่นชนิดอื่นในฤดูหนาวของแต่ละปีเพื่อขายเป็นอาหารหรือเป็นนกปล่อยทำบุญในพุทธศาสนา และหลังจากการค้นพบ มีการดักจับนกได้ถึงเกือบ 120 ตัวเพื่อขายให้กับผู้อำนวยการสถานีประมงนครสวรรค์ และแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาชีวิตของนกเหล่านั้นไว้ได้ และด้วยเพราะมีจำนวนประชากรเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้ไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายนัก แต่อาจมีรายงานที่ไม่ยืนยันว่าพบเห็นนกในประเทศกัมพูชาในปี พ.ศ. 2547
มีการลดจำนวนลงอย่างมากของประชากรนกนางแอ่นในบึงบอระเพ็ดจากหนึ่งแสนตัวในราวปี พ.ศ. 2513 เหลือเพียง 8,000 ตัวที่นับได้ในฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2523-2524 แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจ แต่เหตุการณ์นี้คือการแสดงถึงการลดลงหรือเปลี่ยนถิ่นเนื่องมาจากการถูกรบกวน สาเหตุอื่นที่ทำให้นกชนิดนี้ลดจำนวนลงประกอบด้วย จากการรบกวนบริเวณตลิ่งทรายแม่น้ำ การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ การแก้ไขอุทกภัย การประมง การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยเพื่อการเกษตร อย่างน้อยนกนางแอ่นก็ยังชอบจับคอนตามพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดมากกว่าตามไร่อ้อย แต่ก็ไม่ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในฝูงนกจับคอนเหล่านั้น
บึงบอระเพ็ดได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์เพื่อพยายามจะปกป้องนกชนิดนี้ แต่จากการสำรวจค้นหานกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่เหลือรอดซึ่งประกอบด้วยการสำรวจที่บึงบอระเพ็ดหลายครั้ง การค้นหานกชนิดนี้ การสำรวจแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำวังในภาคเหนือของประเทศไทยปี พ.ศ. 2512 และการสำรวจของแม่น้ำในภาคเหนือของประเทศลาวในปี พ.ศ. 2539 กลับประสบความล้มเหลว
ที่มา: วิกิพีเดีย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ไข้หวัดนกระบาดในไก่งวงที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ คริสมาสต์นี้ชาวยุโรปขาดแคลนไก่งวงในการเฉลิมฉลอง
https://www.thaiquote.org/content/248857
“Aqua-IoT” นวัตกรรมดูแลสัตว์น้ำเพื่อเกษตรกรไทย
https://www.thaiquote.org/content/248853
ในสถานการณ์สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ข้าวสาลีอายุหลายศตวรรษสามารถช่วยโลกได้หรือไม่?
https://www.thaiquote.org/content/248847