ทรัพยากรธรรมชาติในโลกนี้ต่างมีแนวโน้มที่จะเสียงต่อการสูญพันธุ์สูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะดีหรือไม่หากประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศในระยะยาวได้เช่นกัน
สำหรับต่างประเทศได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำงานในวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ยกตัวอย่าง ช่วงปีที่ผ่านมามีข่าวที่น่าตื่นเต้นในวงการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ เช่น นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันสามารถโคลนนิงเฟอร์เรตตีนดำ (Black-footed Ferret) สัตว์ใกล้สูญพันธุ์จากตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เก็บรักษาไว้นานกว่า 30 ปี และนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียสามารถคืนชีวิตให้ต้น ไซลีน สเต็นโอฟิลลา (Silene stenophylla) ที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากเมล็ดที่ผ่านการแช่แข็งตามธรรมชาติมานานนับหมื่นปี
ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทำให้ไทยมีความมั่นคงด้านอาหาร สามารถนำทรัพยากรชีวภาพมาใช้ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้หลากหลาย แต่การคงอยู่ของทรัพยากรชีวภาพอาจไม่ยั่งยืน เนื่องด้วยพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของมนุษย์ และการต้องเผชิญเหตุภัยธรรมชาติหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้ทรัพยากรหลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ ส่งผลให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล ประเทศไทยอาจสูญเสียความมั่นคงด้านอาหาร และต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงต่างๆ ในอนาคต
“เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ สวทช. ได้ก่อตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) ขึ้นในปี 2562 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว (Long-term Conservation) และเป็นคลังทรัพยากรชีวภาพสำรองให้แก่ประเทศ (Long-term Biobanking Facility) สำหรับรับมือกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพไปอย่างถาวร ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงการรักษาฐานทรัพยากรชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุล โดย NBT ได้พัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและใช้เทคโนโลยีมาตรฐานเพื่อยกระดับการอนุรักษ์ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลทรัพยากรชีวภาพที่จัดเก็บไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในภาคส่วนต่างๆ อย่างยั่งยืน”
การทำงานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว
ทรัพยากรชีวภาพในไทยมีทั้งที่เป็นทรัพยากรท้องถิ่นและทรัพยากรที่เคลื่อนย้ายมาจากพื้นที่อื่น ทรัพยากรแต่ละชนิดมีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ไม่เท่ากัน NBT จึงมีเกณฑ์ในการจัดเก็บตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพรวมถึงข้อมูลต่างๆ ของตัวอย่างเหล่านี้ เพื่อการอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ศิษเฎศ อธิบายว่า NBT ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศโดยการทำงานร่วมกันของนักวิจัยจาก 3 ธนาคารหลัก คือ ธนาคารพืช (Plant Bank) ธนาคารจุลินทรีย์ (Microbe Bank) และธนาคารข้อมูล (Data Bank) โดยธนาคารพืชจะให้ความสำคัญต่อการจัดเก็บพืชถิ่นเดียว พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยจัดเก็บส่วนขยายของพืช เมล็ดพันธุ์ (Seed) และเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) และมีการจัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (Herbarium Specimen) เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการ ธนาคารจุลินทรีย์จะให้ความสำคัญกับการเก็บสำรองจุลินทรีย์ที่ค้นพบในไทย ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีของประเทศ โดยจัดเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์ในรูปแบบและอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ และมีแนวโน้มที่จะนำไปใช้เป็นมาตรฐานสากลในอนาคต ซึ่ง NBT มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพในรูปแบบคงสภาพหรือคงความมีชีวิตที่อุณหภูมิเยือกแข็ง 2 ระดับ ระดับ -20 องศาเซลเซียส จัดเก็บเมล็ดพืชได้ 100,000 หลอดที่ขนาด 25 มิลลิลิตร และระดับ -80 องศาเซลเซียส จัดเก็บจุลินทรีย์และตัวอย่างชีววัสดุอื่นๆ ได้ 300,000 หลอดที่ขนาด 2.5 มิลลิลิตร และมีความสามารถในการจัดเก็บตัวอย่างเซลล์ในถังไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen) ขนาด 1,770 ลิตร”
ร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
นอกจากการให้บริการการจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาวแล้ว อีกหนึ่งการทำงานที่ NBT ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การวิจัยและพัฒนาด้านข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นบทบาทของธนาคารข้อมูลชีวภาพ (Data Bank) เป็นโครงสร้างที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีค่าของทรัพยากรชีวภาพของประเทศ
ดร.ศิษเฎศ อธิบายว่าในการจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพแต่ละชนิด นักวิจัยของ NBT จะรวบรวมข้อมูลหลากหลายมิติของตัวอย่าง อาทิ สารสำคัญของทรัพยากรชนิดนั้นๆ รูปแบบและวิธีการจัดเก็บทรัพยากรที่มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์และข้อมูลรหัสพันธุกรรรม เพื่อทำให้การจัดเก็บเป็นระบบและถูกต้อง NBT ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการข้อมูลตัวอย่าง Specimen Management System หรือ SMS ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำกับให้การจัดเก็บเป็นระบบ สามารถตรวจสอบคุณภาพการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้หน่วยงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันใช้งานเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยฐานข้อมูลเหล่านี้จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงเพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย และต่อยอดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในภาคการอนุรักษ์และการต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์
ดร.ศิษเฎศ เสริมว่า ตัวอย่างงานวิจัยสำคัญที่ NBT มีส่วนร่วมในการพัฒนาฐานข้อมูลอ้างอิง คือ การร่วมมือกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ในการพัฒนาฐานข้อมูลสารออกฤทธิ์ที่สำคัญของสมุนไพรเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอก และการดำเนินงานโครงการ Genomics Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย ในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเพื่อการประมวลผลข้อมูลจีโนมมนุษย์ และการพัฒนาเครื่องมือชีวสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมเวชพันธุศาสตร์ (Genomic Medicine) เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในการพยากรณ์โรค (Prognosis) การวินิจฉัย (Diagnosis) และการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม (Treatment Selection) ให้แก่ผู้ป่วย
“NBT มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนประเทศให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเจ้าของทรัพยากร นักวิจัย และองค์กรทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศที่เข้มแข็งในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพ โดยปัจจุบันนอกจากที่ NBT ได้ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐแล้ว NBT ยังได้ร่วมงานกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศอีกหลายรายในการสนับสนุนการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ เวชสำอาง และอาหารทางเลือก เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงก่อให้เกิดรายได้กลับเข้าสู่องค์กรสำหรับวิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ตามนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ” ดร.ศิษเฎศ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ NBT พร้อมแล้วที่จะสนับสนุนการยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ และยกระดับเศรษฐกิจฐานชีวภาพของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NBT ได้ที่ www.nbt.or.th หรือติดต่อสอบถามได้ที่อีเมล [email protected].
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ASW ผนึก UOB ขับเคลื่อนนวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อป ลุยธุรกิจผ่านสินเชื่อ GREEN LOAN
https://www.thaiquote.org/content/248081
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดตัวเครื่องชาร์จ EV เครื่องแรกของโลกที่คอยตรวจสอบค่าพลังงานและการปล่อย CO2
https://www.thaiquote.org/content/248063
Pandoraพลิกโฉมตลาดเครื่องประดับเพชรเงินและทองรีไซเคิล 100% ลด การปล่อย CO 2 ไม่ใช้เพชรที่ขุดอีกต่อไป
https://www.thaiquote.org/content/248039