สธ.ชี้ผู้เคยปลูกฝีมาแล้ว ไม่ช่วยป้องกันฝีดาษลิง ย้ำติดยากไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคน

สธ.ชี้ผู้เคยปลูกฝีมาแล้ว ไม่ช่วยป้องกันฝีดาษลิง ย้ำติดยากไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคน

คนไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษคน นานกว่า 40 ปี ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิงทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่าย และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ทุกคน เนื่องจากอาการของโรคยังไม่รุนแรง โอกาสแพร่เชื้อน้อย และอัตราการเสียชีวิตต่ำ ยกเว้นต้องเฝ้าระวังในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี และเด็กเล็ก

 

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการทดสอบภูมิคุ้มกันของคนไทยต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) โดยใช้วิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) หรือการนำเชื้อไวรัสเป็นๆ มาสู้กับเลือดในหลอดทดลอง พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษคน นานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิงทั้ง 2 สายพันธุ์ ทั้งนี้พบ 2 ราย มีระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสฝีดาษลิงได้ โดย 1 ราย มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 ราย มีภูมิคุ้มกันต่อทั้ง 2 สายพันธุ์ B.1 และ A.2

อย่างไรก็ดี โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่าย และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ทุกคน เนื่องจากอาการของโรคยังไม่รุนแรง โอกาสแพร่เชื้อน้อย และอัตราการเสียชีวิตต่ำ ยกเว้นต้องเฝ้าระวังในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี และเด็กเล็ก เน้นย้ำว่าโรคนี้ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดแบบนัวเนีย ดังนั้นการใช้มาตรการ Universal Prevention ก็เพียงพอต่อการป้องกันโรคฝีดาษลิงแล้ว

ทั้งนี้ วัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงนั้น ยังไม่มีการผลิตขึ้น แต่วัคซีนฝีดาษคน สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ผลประมาณ 85% อย่างไรก็ดี มีวัคซีนฝีดาษคน รุ่น 3 ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปอนุมัติให้ใช้วัคซีน smallpox (JYNNEOS Vaccine) ในกลุ่ม Healthcare workers และกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว

สำหรับประเทศไทย ได้มีการนำเข้าวัคซีน JYNNEOS จากสหรัฐฯ ประมาณ 1,000 โดส ใช้สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป โดยต้องฉีดคนละ 2 โดส หรือฉีดได้ 500 คน มีวิธีฉีด 2 แบบ คือ ฉีดเข้าทางผิวหนัง หรือฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ส่วนจะฉีดให้ในกลุ่มใดบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนจากคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นจึงยังไม่ใช่วัคซีนที่จะใช้ฉีดให้ทุกคน

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนฝีดาษคน รุ่น 1 ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เก็บไว้ ต้องมีการพิจารณาเรื่องการนำมาใช้อีกครั้ง เนื่องจากเมื่อก่อนโรคฝีดาษคนอันตรายมาก มีการติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน แต่วันนี้ไม่มีเชื้อฝีดาษคนแล้ว มีแต่ฝีดาษลิง ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ จึงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักผลกระทบของวัคซีนอย่างรอบคอบ

“มีรายงานจำนวนหนึ่ง ที่เกิดผลกระทบร้ายแรงหลังจากฉีดวัคซีนฝีดาษคน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อไขสันหลังอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจมีปัญหา รวมทั้งรอยแผลเป็น ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมองว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะฉีดวัคซีนให้ทุกคน” นพ.ศุภกิจ ระบุ

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถาบันวัคซีน และบางสถาบันมหาวิทยาลัยในประเทศ ได้ขอเชื้อฝีดาษลิงจากกรมวิทย์ฯ ซึ่งมีเชื้อตั้งต้นแล้วทั้ง B.1 และ A.2 เพื่อนำไปทำการทดลองผลิตวัคซีนฝีดาษลิงโดยตรง ซึ่งกรมวิทย์ฯ ก็สนับสนุนและหาลู่ทางในการดำเนินการ โดยวิธีที่ง่ายที่สุดอาจเป็นวัคซีนเชื้อตาย

สำหรับสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด ขณะนี้ไทยพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4-BA.5 เกือบ 100% แล้ว โดยพบ BA.5 มากกว่า BA.4 ถึง 6 เท่า ส่วน BA.2.75 พบประมาณ 13 ราย และยังไม่มีแนวโน้มเพิ่ม ในส่วนของ BA.4.6 ยังไม่พบในไทย โดยรวมสถานการณ์ของไทยคล้ายกับทั่วโลก และยังไม่เปลี่ยนไปจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ที่มีความทันสมัยขึ้น (วัคซีนรุ่น BA.1) แต่เท่าที่เห็นคนที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 ยังสามารถติดเชื้อ BA.4-BA.5 ได้ ดังนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งถ้าประสิทธิภาพไม่ได้แตกต่างกันมาก ก็ยังไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อวัคซีนรุ่นใหม่เข้ามา และเชื่อว่าการพัฒนาวัคซีนคงตามไม่ทันโควิดสายพันธุ์ใหม่.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

โรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา และภาวะสายตายาวสูงอายุ
https://www.thaiquote.org/content/248053

การสวมถุงยางอนามัยป้องกันฝีดาษลิงได้บางส่วน ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีกที่ทำให้ติดโรคฝีดาษลิง
https://www.thaiquote.org/content/248002

สาเหตุของการเกิดโรคด่างขาว และวิธีการรักษา
https://www.thaiquote.org/content/247893