หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชง ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด
ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีปริมาณสาร Tetrahydrocannabinol (THC) เกิน 0.2% และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของกัญชาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งอาหารและเครื่องสำอาง ยังถือเป็นยาเสพติด
สาร THC ที่พบในช่อดอกกัญชามีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางจิตประสาท และมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงมีข้อควรระวังดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลก่อนใช้กัญชา
ก่อนใช้กัญชาควรศึกษาข้อมูลการใช้และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาต่อตนเองทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น
• เว็บไซต์ของสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
• เว็บไซต์ของกองควบคุมวัตถุเสพติด (กัญชา) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
• สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการด้านสาธารณสุข และสถานพยาบาลต่าง ๆ
2. รู้ทันความเสี่ยงก่อนการใช้กัญชา
คนที่เพิ่งเริ่มใช้กัญชาแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร THC ในปริมาณน้อยก่อน เพราะหากใช้ปริมาณมากอาจเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
คนที่มีโรคประจำตัวควรรับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานทางการแพทย์ก่อน เพราะกัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษาโรค ยกเว้นกรณีที่ใช้ยารักษาแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น และไม่ควรใช้กัญชาแทนยารักษาโรคที่แพทย์สั่งจ่าย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท โรคปอด และโรคทางจิตเวช ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กัญชา และหากใช้ยารักษาโรคใด ๆ อยู่ ควรสังเกตปฎิกิริยาระหว่างยาที่ใช้กับกัญชาด้วย เช่น ประสิทธิภาพของยาลดลงหรือเกิดผลข้างเคียงหลังใช้กัญชา
ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีการทำงานของตับและไตผิดปกติ และผู้ป่วยที่ใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนกลาง ไม่ควรใช้กัญชา หรือใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
3. กลุ่มคนที่ไม่ควรใช้กัญชา
กลุ่มคนที่ห้ามใช้กัญชา ได้แก่ คนที่แพ้กัญชา ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช เด็ก และผู้อายุน้อยกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ที่ใช้ยาวาฟาริน (Warfarin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด และอาจทำให้เลือดออกผิดปกติ
นอกจากนี้ ผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ไม่ควรใช้ช่อดอกกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อพัฒนาการทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผลที่แม้หยุดกัญชาเป็นเวลานานก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ
4. ระวังการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีกัญชา
ก่อนรับประทานกัญชาควรอ่านปริมาณสารกัญชาในอาหารและเครื่องดื่มที่ระบุในฉลากสินค้า หรือสอบถามผู้จำหน่ายหากไม่มีข้อมูลแจ้งไว้ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
กรมอนามัยแนะนำให้ใช้ใบกัญชาสดสำหรับประกอบอาหารในปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้ในอาหารประเภททอด 1–2 ใบต่อเมนู และอาหารประเภทผัด แกง ต้ม หรือผสมในเครื่องดื่มให้ใช้ 1 ใบต่อเมนู ทั้งนี้ เด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรรับประทานอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา
ในช่วงแรกที่เริ่มรับประทานอาหารที่มีกัญชาอาจทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง มึนงง ปวดหัว ง่วงนอน และใจเต้นเร็ว โดยอาจเริ่มมีอาการหลังรับประทาน 30–60 นาที ผู้ที่เพิ่งเริ่มรับประทานกัญชาควรเริ่มรับประทานแต่น้อย และรอสังเกตอาการผิดปกติหลังรับประทาน 2 ชั่วโมง หากมีอาการผิดปกติควรหยุดรับประทานทันที
หากคนใกล้ตัวได้รับอันตรายจากการรับประทานอาหารหรือขนมใส่กัญชา โดยที่ผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้แจ้งข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชา หรือไม่แจ้งข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ควรเก็บผลิตภัณฑ์ที่เหลือและหีบห่อไว้ จดรายละเอียดช่องทางการซื้อขาย และติดต่อสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล พร้อมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระจายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ระบุรายละเอียดเหล่านี้
5. ไม่ขับขี่รถหรือใช้เครื่องจักรหลังใช้กัญชา
งดขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักรอย่างน้อย 6 ชั่วโมงหลังใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับการดื่มสุรา เพราะจะทำให้ความสามารถในการขับยานพาหนะและทำงานลดลงมาก
6. การสูบกัญชาทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง
การสูบกัญชาแบบเผาไหม้ บารากุ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเกิดจากตัวกัญชา สารละลาย หรือสารปนเปื้อนอื่นในผลิตภัณฑ์กัญชา
ผู้ที่ทดลองสูบไม่ควรสูบลึกมาก อย่าอัดหรือกลั้นไว้ในปอด เพราะจะได้รับสาร THC และสารระคายเคืองต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป และควรหยุดสูบในทันทีหากมีอาการระคายเคืองทางเดินหายใจ
7. ควันกัญชามือสองทำร้ายคนรอบข้างได้
ผู้ที่ต้องการสูบกัญชาควรสูบในสถานที่ที่จัดเป็นสัดส่วนแยกจากผู้อื่น ไม่สูบในสถานที่ที่มีเด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะการสูดดมควันกัญชาอาจส่งผลเสียต่อร่างกายแม้ไม่ได้เป็นผู้สูบเอง เช่น
เสี่ยงต่อโรคหืด หลอดลมอักเสบ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตประสาท โดยเฉพาะเด็กและทารก
กระตุ้นให้ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตและกลุ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้ามีอาการรุนแรงขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้การใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดที่ทำให้เกิดกลิ่นหรือควัน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ที่อยู่ใกล้เคียงถือเป็นเหตุรำคาญ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 หากพบเห็นการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบได้ทันที
การเลือกผลิตภัณฑ์กัญชา ควรเลือกที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนในกัญชา หากมีสัญญาณของการติดกัญชา เช่น ใช้บ่อยหรือใช้ปริมาณมากขึ้น หยุดใช้ลำบาก เริ่มคิดถึงการใช้กัญชามากจนรบกวนการทำงาน การใช้ชีวิต หรือความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมการใช้.
ที่มา: พบแพทย์
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:
การวิจัยใหม่พบว่า คนที่งีบหลับเป็นประจำอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น
https://www.thaiquote.org/content/247857
คุณควรกิน “ดาร์กช็อกโกแลต” มากแค่ไหนเพื่อให้อายุยืนยาวขึ้น?
https://www.thaiquote.org/content/247825
สังกะสี สารอาหารจำเป็นสำหรับทุกคนในครอบครัว
https://www.thaiquote.org/content/247796