เนคเทค สวทช. ผนึกกำลังพันธมิตร ชูผลงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเกษตรยั่งยืน พร้อมใช้ เห็นผลได้จริง ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2022
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ธนาคารเพื่อการส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท. สวทช.) พร้อมพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมไทยไอโอที จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2565 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2022 (NECTEC–ACE 2022) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” จัดแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเกษตรยั่งยืน (Digital Technology for Sustainable Agriculture) ในวันที่ 8-9 กันยายน 2565 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และ สัมมนาออนไลน์
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่าในโอกาสที่ปีนี้เนคเทคก่อตั้งครบ 36 ปี หรือ 3 รอบ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา เนคเทคยังคงมุ่งมั่น เดินหน้าต่อกับภารกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูง เปรียบเสมือนเป็น “เครื่องจักรสำคัญเพื่อสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับประเทศ” ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้กับประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย นอกจากนี้ เนคเทค สวทช. ยังได้เตรียมความพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยจับมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน ใหสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแต่ละปีมีผลงานโครงการวิจัยร่วมกัน ไม่ต่ำกว่า 200 โครงการ
ในปีนี้งานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค 2565 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2022 (NECTEC–ACE 2022) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการส่งมอบผลงานให้กับประเทศ เป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยที่ใช้งานได้จริง รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และสนับสนุนภารกิจของเครือข่ายพันธมิตรที่จะได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ที่ผ่านมาเนคเทคได้ให้ความสำคัญ และผลักดันงานวิจัย หรือเทคโนโลยีเพื่อภาคการเกษตรมากว่า 10 ปี พร้อมทั้งยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงานแบบมุ่งเป้าที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน นั่นคือ ระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) กับโจทย์หลัก คือ “เราจะนำเทคโนโลยีมาช่วยทำการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงอย่างไร” ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเนคเทคไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีภารกิจหลักในการสนับสนุนส่งเสริมภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี แหล่งทุนสนับสนุน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มาเป็นพลังร่วมขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะสร้างและเติมเต็ม Ecosystem ให้เติบโต เพื่อสร้างภาคเกษตรไทยให้ยั่งยืน
ภายในงานจะได้พบกับ ไฮไลท์หัวข้อสัมมนาวิชาการ ซึ่งในปีนี้จะเปิดมุมมองและประสบการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลเพื่อการยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคเกษตรกรรมไทย ซึ่งการสัมมนาจะนำเสนอทั้งในรูปแบบ Onsite ณ สถานที่จัดงาน โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน และในรูปแบบออนไลน์ ให้เลือกได้ตามความสะดวก โดยหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ
Agri-Map เพื่อการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในยุค BCG การที่ประเทศมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุกของแต่ละจังหวัด (Agri-Map) ที่ให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ง่าย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผน และบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร หากได้ขยายผลสู่การพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลเกษตรประเทศไทย เพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลภาคเกษตร ให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติ บริหารจัดการข้อมูลด้านเกษตรให้เป็นระบบและครบวงจรมากขึ้น รวมถึงมีระบบการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้เกิดการวางแผนและการตัดสินใจที่แม่นยำ ก็จะช่วยยกระดับและเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคการเกษตรของประเทศ และการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น โดย กรมพัฒนาที่ดิน, เนคเทค สวทช. และ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi)
แนวทางสนับสนุนและสิทธิประโยชน์สำหรับเกษตรอัจฉริยะเป็นการนำเสนอแนวทางการเข้าถึงแหล่งทุน สินเชื่อ สิทธิประโยชน์ และการบริการ จากหน่วยงานพันธมิตร อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่สอดคล้องกับ Digital Agriculture ให้แก่ผู้ประกอบการ
HandySense นวัตกรรมเปิด สู่ประตูธุรกิจ ถอดประสบการณ์ HandySense Open Innovation จากนวัตกรรมแบบเปิดของ “ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ HandySense สู่เกษตรกรไทย และธุรกิจนวัตกรรมเกษตร ด้วยการผสานความร่วมมือตามแนวทาง Open Public-Private-People Partnership โดย กรมส่งเสริมการเกษตร, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สมาคมไทยไอโอที, ผู้ประกอบการ และเนคเทค สวทช.
เทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลสำหรับการผลิตทุเรียนสมัยใหม่ นำเสนอการนำเทคโนโลยีดิจัทัล มายกระดับการผลิตทุเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรจะต้องพบกับความไม่แน่นอน ควบคุมไม่ได้ คาดการณ์ไม่ได้ โดย วิทยากรที่อยู่ในวงการตลาดทุเรียน รวมทั้ง เกษตรกร ที่กล้าปรับตัว Aqua-IoT เพื่อสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทยยุคดิจิทัล Aqua-IoT ชุดอุปกรณ์ตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน เพื่อช่วยในการเฝ้าระวังสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กายภาพ เคมี ชีวภาพ ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในพิธีเปิดงาน ช่วงเช้าของวันที่ 8 กันยายน 2565 ท่านจะได้รับฟังการแสดงปาฐกถาพิเศษ จากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีภารกิจหลักขับเคลื่อนส่งเสริมภาคเกษตรกรรมของประเทศ ที่ท่านจะได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์การดำเนินงาน กลไก/ มาตรการสนับสนุนในการเสริมขีดความสามารถของเกษตรกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรดิจิทัล ต่อด้วยการบรรยายพิเศษจากผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ว่าท่านจะมีนวัตกรรมทางเกษตรแห่งอนาคตที่ทำได้จริง มีโซลูชั่น บริการที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้แก่ภาคเกษตรไทย
สำหรับโซนนิทรรศการ มีการจัด 6 โซนนิทรรศการผลงานวิจัย ช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยสู่เกษตร 4.0 โดยยกทัพผลงานวิจัยพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากเนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนชั้นนำ ที่แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร ที่ทำได้จริง และตัวอย่างความสำเร็จ ในการแถลงข่าววันนี้จะมีบางส่วนมาให้ได้รับชม พร้อมโซน Matching Technology ที่ท่านสามารถเข้ามาพูดคุย สอบถาม กับเจ้าของงานวิจัย/ เทคโนโลยี โซลูชัน ที่ท่านสนใจจะนำไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Open House จุดประกาย เปิดไอเดียสร้างสรรค์ทำเกษตรสมัยใหม่ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษในปีนี้ กับการเปิดบ้านให้ท่านได้เยี่ยมชมตัวอย่างแปลงเกษตรสาธิตที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการดำเนินงานจริง ภายในพื้นที่สวทช. และบริเวณใกล้เคียง กับ 4 สถานีเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่
Plant Factory: โรงงานปลูกพืชระบบปิด โดย BIOTEC สวทช.
AGRITEC: สวนเกษตรอัจฉริยะ โดย สท. สวทช.
NECTEC Smart Garden: ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ โดย เนคเทค สวทช.
สวนเกษตรในเมือง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย “SDG Lab” อาคารเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เปิดรับผู้ที่สนใจ จองเข้าเยี่ยมชมตามช่วงเวลา รอบละ 20 ท่าน มีรถบริการสำหรับการเดินทางในแต่ละจุด
“ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภาคเกษตรกรรม หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ นักวิจัย นักวิชาการ นักพัฒนา นักเรียน นักศึกษา”
งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ หรือ NECTEC-ACE ในปีนี้ เราพร้อมที่จะเชิญชวนให้ทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไทย ให้ก้าวไกล ก้าวหน้า ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลไปด้วยกัน ท่านสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ www.nectec.or.th/ace2022 และเข้าร่วมงานสัมมนาและนิทรรศการได้ในรูปบบ Onsite ณ ศูนย์ประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. จ.ปทุมธานี ในสัมมนารูปแบบออนไลน์ ผ่าน WebEx Event ในวันที่ 8-9 กันยายน นี้.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:
หุ่นยนต์ ผู้น่ารักและอ่อนโยน วิ่งส่งของ และรู้จัก “ขอบคุณ” เมื่อคุณช่วยเหลือเขา
https://www.thaiquote.org/content/247829
“น้ำท่วม แผ่นดินแล้ง อากาศแปรปรวน เพราะมนุษย์เผาผลาญพลังงานฟอสซิลเพื่อสร้างอารยธรรม ถึงเวลาโลกเอาคืน”
https://www.thaiquote.org/content/247851
นักวิจัยค้นพบวิธีทำนายภาวะแห้งแล้ง เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น ด้วยการทำนายจากพืช
https://www.thaiquote.org/content/247824