วช.สนับสนุนทุนวิจัยนิวตัน “การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่มีการติดเชื้อร่วมระหว่างพยาธิใบไม้ตับและแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่” หวังลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่ยังคงสูงกว่าปีละ 20,000 ราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี นับเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ยังมีการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีเป็นจำนวนมาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย วช. มีบทบาทสำคัญในการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาที่สำคัญของประเทศ จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัย Newton Fund Impact Scheme (NFIS) ประจำปี 2563-2564 ภายใต้ความร่วมมือ Newton Fund-NRCT Thailand Research and Innovation Partnership Fund กับโครงการ “การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่มีการติดเชื้อร่วมระหว่างพยาธิใบไม้ตับและแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่” ซึ่งมี “ศาสตราจารย์ ดร.บรรจบ ศรีภา” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ โดยร่วมมือกับทีมวิจัยจากประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ลดการสูญเสียทั้งด้านชีวิต สังคมและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร. บรรจบ ศรีภา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี ยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ข้อมูลล่าสุดของประเทศไทยที่มีการสำรวจทั้งประเทศในปี พ.ศ.2562 พบการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเฉลี่ยร้อยละ 2.2 หรือประมาณ 2 ล้านคน โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้แม้อัตราการติดเชื้อเฉลี่ยจะลดลงจากร้อยละ 8.7 ในปี พ.ศ. 2552 เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์ควบคุมและป้องกันโรคนี้อย่างเข้มข้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการตายจากโรคมะเร็งท่อน้ำดียังคงสูงกว่าปีละ 20,000 ราย
คณะผู้วิจัยซึ่งศึกษากลไกเชิงลึกในการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับมานานกว่า 30 ปี ได้ค้นพบว่าการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ (Helicobacter pylori) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ก่อความรุนแรง CagA+ ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งท่อน้ำดีและพยาธิสภาพผนังท่อน้ำดีหนาในผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังพบว่าพยาธิใบไม้ตับเป็นสัตว์รังโรคของเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ ซึ่งแม้จะมีการถ่ายยาพยาธิใบไม้ตับไปแล้วสองปี แต่พยาธิสภาพของท่อน้ำดีก็ยังคงอยู่กว่าร้อยละ 40 และพยาธิสภาพนี้มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับปริมาณการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ สายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจพบเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ สายพันธุ์นี้กว่าร้อยละ 80 ในน้ำดีของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจไม่พบพยาธิใบไม้ตับแล้ว
ศาสตราจารย์ ดร. บรรจบ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยเชิงลึกอย่างต่อเนื่องและพบว่าเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ สายพันธุ์ที่ก่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ที่ก่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และสารพันธุกรรมของยีนก่อความรุนแรงของโรค cagA ก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลทำให้มีการสร้างโปรตีนต่างๆ แตกต่างไปด้วย ซึ่งคณะผู้วิจัยจะเรียกว่า biliary type cagA และเนื่องจากโปรตีน CagA ซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคที่สำคัญ การตรวจหา CagA ในอุจจาระหรือแอนติบอดีต่อ CagA ในเลือดของผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ อาจจะช่วยในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีได้มากขึ้น นอกเหนือจากการตรวจไข่พยาธิใบไม้ตับอย่างเดียว จึงนำมาสู่แนวคิดในการพัฒนา “ชุดตรวจ วินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่มีการติดเชื้อร่วมระหว่างพยาธิใบไม้ตับและแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ ”
“คณะวิจัยได้ศึกษาสายพันธุ์เชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ ในระดับจีโนม รวมถึงการวิเคราะห์ลำดับเบสสารพันธุกรรมของยีน cagA และโปรตีน CagA ก่อนทำการวิเคราะห์ลำดับกรดอะมิโนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานชนิดแอนติบอดีได้สูง และสังเคราะห์เปปไทด์เส้นสายกรดอะมิโนนี้ขึ้นมา โดยส่งให้ Prof. Steven Edward ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร นำไปผลิตเป็น Monoclonal antibody ที่จำเพาะ แล้วนำมาพัฒนาเป็นชุดตรวจ CagA ในอุจจาระโดยวิธี capture ELISA ส่วนเปปไทด์จะนำมาใช้ในการตรวจระดับแอนติบอดีในเลือดด้วยวิธี Indirect ELISA”
ทั้งนี้หากงานวิจัยได้ผลดีในระดับห้องปฏิบัติการ จะมีการนำเทคนิคดังกล่าวมาทดลองใช้ในระดับชุมชนในการคัดกรองกลุ่มต่างๆ ซึ่งหากประเมินผลแล้วพบว่ามีความไว และความจำเพาะสูง คณะผู้วิจัยจะพัฒนาเป็นต้นแบบชุดตรวจที่ใช้งานง่าย เช่น Lateral flow ซึ่งใช้หลักการเดียวกับ ATK เพื่อใช้ในการคัดกรองในพื้นที่เสี่ยงต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัญญาการรับทุนวิจัยนิวตัน มีกรอบการดำเนินงานเพียง 1 ปี ซึ่งไม่มากพอที่จะพัฒนาให้ได้ผลงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่จากการดำเนินการวิจัยที่กล่าวมาเบื้องต้น หากประสบความสำเร็จ เราจะได้ชุดตรวจที่เหมาะสำหรับการคัดกรองผู้ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี่ สายพันธุ์ที่ก่อโรคในท่อน้ำดี มากกว่าชุดคิทตรวจ CagA ทั่วไป ที่ส่วนใหญ่พัฒนามาจากสายพันธุ์ก่อโรคในกระเพาะอาหาร และหากมีการนำไปใช้แพร่หลาย จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการป้องกันและรักษา ที่สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้มากขึ้นในอนาคต.