นวัตกรรม “VirionQ PPE ชุดป้องกันทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพกำจัดไวรัส” ได้ภายใน 30 นาที ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมั่นใจ พร้อมต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ
ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โชว์ผลงาน “VirionQ PPE ชุดป้องกันทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพกำจัดไวรัส” รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 เผยช่วยกำจัดเชื้อไวรัสบนพื้นผิวชุด PPE ได้ภายใน 30 นาที ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมั่นใจ พร้อมต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ
ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องใช้ชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือ ชุด PPE เพื่อใช้ดูแลและคัดกรองผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุด PPE ที่ใช้อยู่ทั่วไป เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาชุดป้องกันอยู่ตลอด จึงได้คิดค้นและพัฒนาชุดป้องกันทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพกำจัดไวรัส VirionQ PPE ขึ้น และได้นำไปต่อยอดผลิตและจำหน่ายร่วมกับภาคเอกชน คือ บริษัท Thaimedlab เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป
การพัฒนาชุด VirionQ PPE ฝีมือคนไทยนี้ มีการใช้วัสดุนาโน ที่ผลิตโดย Green Nanotechnology ที่มีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อไวรัส และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ได้แก่ Cuprous Oxide Nanoparticles , Silver Nanoparticles และ Gold Nanoparticles พ่นเคลือบลงบนวัสดุพื้นผิวผ้าของชุด PPE ด้วยการใช้คลื่นอัลตราโซนิก พ่นละอองของเหลวที่มีขนาดเล็กถึง 5 ไมโครเมตร (Aerosal coating) ซึ่งของเหลวจะระเหยเป็นไอ ทำให้สารที่ออกฤทธิ์ ฆ่าเชื้อไวรัส กลายเป็นผลึกยึดเกาะบนผ้าได้เป็นระยะเวลานาน เมื่อเชื้อโรคสัมผัสบนผิวผ้าที่เคลือบด้วยวัสดุนาโน จะเกิดการปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้ผนังเซลล์ของเชื้อไวรัสแตกออก จึงสามารถกำจัดเชื้อไวรัสบนผิวผ้าได้ ภายในเวลา 30 นาที นอกจากนี้ ยังสามารถใช้งานร่วมกับ เครื่องพ่นละอองไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ VQ20 30-50 % ที่พัฒนาไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อทำการฆ่าเชื้อไวรัสบนชุด PPE ได้อีกทางหนึ่ง
ผู้สวมใส่ชุด VirionQ PPE สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสชุด หรือการติดต่อผ่าน Contract transmission ได้ ลดความกังวลในการดูแลรักษาผู้ป่วย และช่วยลดอัตราการติดเชื้อของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง ลดภาระการจัดหาชุด PPE แบบใช้แล้วทิ้งของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันให้กับชุด PPE ให้ดีขึ้นกว่าแบบเดิม นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลในประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอีกด้วย.