วช. ร่วมกับ มทร.อีสาน และ มอ. ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม “ระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคงและเบาะเจลยางพาราป้องกันแผลกดทับ Doctor N Medigel”
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) นำ “นวัตกรรมระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคงและเบาะเจลยางพาราป้องกันแผลกดทับ Doctor N Medigel” ส่งมอบนวัตกรรมพร้อมสาธิตการใช้งานระบบ software smart bed และเตียงพลิกตะแคง ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้, รศ.ดร.บัณฑิต กฤตาคม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรม และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, ผศ. พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ และ รศ.ศักดิ์ระวี ระวีกุล ร่วมกันส่งมอบนวัตกรรม และมี ผศ.นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย ผู้อำนวยการ รพ.สงขลานครินทร์ เป็นผู้รับมอบฯ ณ อาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ตามสถานการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดจนถึงปัจจุบัน และในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง คือ “เตียงพลิกตะแคงพร้อมเบาะ Doctor N Medigel และระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคง” ที่มี รศ.ศักดิ์ระวี ระวีกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ ผศ.พญนลินี โกวิทวนาวงษ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบ ซึ่งจำเป็นต้องช่วยหายใจในท่านอนคว่ำ และเมื่อต้องการเปลี่ยนท่านอนผู้ป่วยจึงต้องใช้พยาบาลหลายคน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงาน ดังนั้นเตียงพลิกตะแคง และ software smart bed จึงตอบโจทย์สำหรับแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ นักวิจัยยังมีการให้บริการด้านการใช้งานและการซ่อมบำรุงให้แก่หน่วยงานสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงมีการเก็บข้อมูลการใช้งานจากผู้ใช้ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลให้แก่คณะวิจัยในการปรับปรุงและพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ต่อไป
วช. หวังว่าเตียงพลิกตะแคง Doctor N Medigel และระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคง ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ จะมีช่วยรับมือในการแก้ไขปัญหา ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน รศ.ดรบัณฑิต กฤตาคม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรม และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า “เตียงพลิกตะแคงพร้อมเบาะ Doctor N Medigel และระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคง” เป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือ กับ ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เริ่มพัฒนาเบาะเจลสำหรับผู้ป่วย จนมาถึงเรื่องการทำเตียงพลิกตะแคง โดยมี รศ.ศักดิ์ระวี ระวีกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มาช่วยในการพัฒนา จนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดจนถึงระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของประเทศที่ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นผู้สร้างนวัตกรรม โดยมีหน่วยงาน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่นำนวัตกรรมไปสู่ประชาชน ชุมชน และสังคมในพื้นที่ ซึ่งเตียงพลิกตะแคงและระบบ software smart bed ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจในการนำพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานอย่างแท้จริง
ส่วน ผศ.นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย ผู้อำนวยการ รพ.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า การนำนวัตกรรม “เตียงพลิกตะแคงพร้อมเบาะ Doctor N Medigel และระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคง” ไปใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยจริง เป็นความสำเร็จของนวัตกรรมอีกขั้น ซึ่งการนำไปใช้กับผู้ป่วยวิกฤต หรือผู้ป่วยติดเตียง ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยเชื่อมั่นว่านวัตกรรมชิ้นนี้จะได้รับการพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงในอนาคตถ้าหน่วยงานของระบบสาธารณสุขได้นำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานจะเป็นการสนับสนุนนักวิจัยไทย นวัตกรรมไทย สู่การใช้งานจริง โดยสามารถเพิ่มการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลดภาระให้ผู้ดูแลหรือบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ในงานยังได้มีการสาธิตการใช้งาน “เตียงพลิกตะแคงพร้อมเบาะ Doctor N Medigel และระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคง” ให้กับทีมพยาบาลของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อีกด้วย.