ปั้น “บางกระเจ้า” ต้นแบบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยี AI

ปั้น “บางกระเจ้า” ต้นแบบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยี AI


บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) วางแผนฟื้นฟูคุ้งบางกระเจ้า ในโครงการ OUR Khung BangKachao พร้อมระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ติดตามผลการรักษาพื้นที่สีเขียว 6,000 ไร่ ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน

 

การพัฒนาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกระเจ้าในโครงการ “OUR Khung BangKachao” ดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562-2566) มีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียว ทั้งพื้นที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมป่าไม้ และพื้นที่อื่นๆ ประมาณ 6,000 ไร่ (คิดเป็นประมาณ 50% ของพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า)

 

 

รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์พื้นที่สีเขียวในพื้นที่ และส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ภายใต้ความร่วมมือจากกว่า 100 องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ชุมชน โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้กำกับดูแลกำหนดนโยบาย

 

โดยมุ่งเน้นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทุกภาคส่วนและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก การพัฒนาพื้นที่สีเขียวช่วยก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น สวนผลไม้ การแปรรูป และการท่องเที่ยว รวมถึงต้องการให้พื้นที่บางกระเจ้าช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ลดฝุ่นละออง PM 2.5 มลพิษทางอากาศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน สร้างชุมชนเข้มแข็งที่สามารถช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน

 

 

ในปีนี้ “วรุณา” ได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการวางแผนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคณะทำงานฯ และความร่วมมือจากเครือข่ายอีกกว่า 30 องค์กร ผ่านแพลตฟอร์มวิเคราะห์ “วรุณา” (VARUNA Analytics) ในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยโดรนสำรวจและดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์พื้นที่แบบ End to End ด้วยระบบเอไอ (AI) ช่วยให้การวางแผนฟื้นฟูทำได้ตรงจุด และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

“รูปแบบการทำงานจะใช้เทคโนโลยีเอไอ (AI) ในการวางแผนลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ตรงเป้าหมาย แม่นยำ ลดเวลาการทำงาน โดยใช้ภาพถ่ายจากโดรนควบคู่กับภาพ Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) จากดาวเทียม ตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์พืชพันธุ์ในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า รวมถึงวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและพื้นที่การเกษตร ดาวเทียมจะเก็บภาพทุกสัปดาห์ไว้เป็นฐานข้อมูล สามารถดูย้อนหลังได้ถึง 5 ปี เพื่อการติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง” “พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านธุรกิจ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิค Machine Learning และ AI มาประมวลผลติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เช่น การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ การจัดโซนนิ่ง ลักษณะพื้นที่สีเขียว ลักษณะดินและน้ำในพื้นที่ และภาพรวมเชิงสถิติ

 

 

พร้อมกับสร้างโมเดลข้อมูลเพื่อช่วยสร้างระบบติดตาม ซึ่งในอนาคตจะวางแผนพัฒนาโมเดลการคำนวณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อศึกษาผลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่บางกระเจ้า

 

 

โดยคาดหวังว่าโครงการ OUR Khung BangKachao จะเป็นต้นแบบการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในการสร้างความยั่งยืนแบบสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถนำไปเป็นแนวทางพัฒนาพื้นที่อื่นได้ในอนาคต