“โปรแกรม ACT” ทางเลือกบำบัด “ยาเสพติด” ในเยาวชน

“โปรแกรม ACT” ทางเลือกบำบัด “ยาเสพติด” ในเยาวชน


หากพูดถึง “ยาเสพติด” กลุ่มที่มีความเสี่ยงกลุ่มแรกๆ เรามักจะนึกถึง “วัยรุ่นหรือเยาวชน” จากข้อมูลของผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ผู้บำบัดอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นช่วง 25-29 ปี และ 30-34 ปี ตามลำดับ

 

โดยยาบ้าและสารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีนยังคงเป็นยาเสพติดที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้ อาจด้วยราคาซึ่งไม่แพง ตามมาด้วย “ยาไอซ์” ที่ได้รับความนิยมไม่ต่างกัน ด้วยเพราะมีความบริสุทธิ์สูงราว 95% ทำให้ออกฤทธิ์เร็วและรุนแรงกว่า

สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้น พบว่า มีการจับกุมการซื้อขายยาเสพติดทางออนไลน์ โดยใช้คริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลในการซื้อขาย ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้การควบคุมป้องกันยาเสพติดในเยาวชนทำได้ยากมากขึ้น

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสังคมและวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2562 จากการสำรวจพื้นที่ภาคกลาง ครอบคลุมถึงภาคตะวันออก พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดรายใหม่ ตั้งแต่ปี 2559-2562 คือ 9,905 ราย, 12,153 ราย, 14,879 ราย, และ 8,755 ราย ตามลำดับ

และผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.6 เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 18-24 ปี โดยเป็นการบำบัดรักษาจากการใช้ยาบ้ามากที่สุด ถึงร้อยละ 67.9 นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ภาคตะวันออก มีการนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการขายและแพร่ระบาดในพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงในพื้นที่มีคนอพยพโยกย้ายจากต่างถิ่นมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับการแก้ปัญหายาเสพติด มีตัวอย่างที่น่าสนใจในต่างประเทศเช่น ประเทศไอซ์แลนด์ ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 เคยพบว่า 42% ของเยาวชนอายุ 15-16 ปี มีการดื่มสุราและใช้ยาเสพติด ส่งผลให้ช่วงนั้นกรุงเรคยาวิก กลายเป็นเมืองที่มีปัญหารุนแรงที่สุดในยุโรป แต่ในปัจจุบันได้ลดลงเหลือเพียง 5% จาก “5 มาตรการ ปฏิวัติวัยรุ่น” ที่ไอซ์แลนด์นำมาปรับใช้ ได้แก่

1) การกำหนดเคอร์ฟิว สำหรับวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปีที่ต้องกลับเข้าบ้านภายในเวลา 22.00 น. โดยในบางพื้นที่จะมีกลุ่มผู้ปกครองออกตรวจตราเยาวชนที่อาจออกไปมั่วสุมนอกบ้านในยามวิกาล

2) ให้ผู้ปกครองลงนามในสัญญา เพื่อกำหนดกฎ/เงื่อนไขการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุตรหลานหรือสนับสนุนให้พวกเขาใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

3) ให้วัยรุ่นใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ โดยเยาวชนไอซ์แลนด์ จะได้รับบัตรกำนัลมูลค่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 16,500 บาท) ทุกปี เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน เช่น กีฬาอย่างฟุตบอล วอลเลย์บอล และว่ายน้ำ

4) ใช้หลักวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ลดปัญหาเหล้า-ยา โดยทุกปีโครงการ Youth in Iceland จะทำการสำรวจวัยรุ่น เพื่อใช้ตรวจวัดการใช้ชีวิตของวัยรุ่นจากแง่มุมต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว ความรู้สึก รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจดังกล่าวถือเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผนดำเนินการเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ รวมถึงลดการใช้สารเสพติดในกลุ่มเยาวชน และ 5) ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม2

ขณะที่ในประเทศไทย มีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างหลากหลายและจริงจัง เพื่อต่อสู้กับยาเสพติดที่รุกเข้ามาในหลายรูปแบบอย่างที่ไม่มีอะไรสามารถปิดกั้นได้

โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.บูรพา ที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับ โปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา (Acceptance Commitment Therapy หรือ ACT) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการฝึกสติ การยอมรับ การสร้างพันธะสัญญา และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ไม่ใช่แค่ลดอาการความผิดปกติ แต่ช่วยให้ผู้รับการบำบัดมีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น

ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ได้อธิบายถึงโปรแกรม ACT ว่ามีการเป็นการบำบัดผ่านกิจกรรมต่างๆ 8 กิจกรรมใน 4 สัปดาห์ เพื่อเป็นการสร้างความยืดหยุ่นในชีวิตและความตั้งใจในการเลิกสารเสพติด และเป็นโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางใจ บนแนวคิดการอยู่กับปัจจุบันขณะ การเปิดใจยอมรับ การปลดปล่อยความคิดยึดติด รับรู้ถึงตัวตนที่สังเกตเห็นหรือรู้ทันการเปลี่ยนแปลง รับรู้คุณค่าในตัวเองและใช้คุณค่านำการกระทำสู่เป้าหมายชีวิตแบบมีพันธะสัญญากับตนเอง

โปรแกรม ACT เป็นทางเลือกในการบำบัดรักษาที่ช่วยให้เกิดการสร้างวิธีคิดวิธีมองชีวิตแบบใหม่ให้กับเยาวชน เพื่อให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ และเพิ่มความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตในสังคม

โดยหลังจากการใช้โปรแกรม ACT กับเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดสารเสพติดในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เขตพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่า ความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมต่างกันอย่างชัดเจน จากผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจเลิกสารเสพติดคือ ความยืดหยุ่นในชีวิต ความผูกพันใกล้ชิดกับเพื่อน และความภาคภูมิใจในตนเอง

ด้าน พว.ปทุมรัตน์ เกตุเล็ก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้บำบัดการใช้สารเสพติด ให้ความเห็นว่า โปรแกรม ACT ช่วยสนับสนุนให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถแก้ปัญหา พึ่งพาตนเองได้ สู้กับวิกฤตอย่างมีความพร้อมมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น เปิดใจยอมรับ และมีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป มีการตั้งเป้าหมายในชีวิต ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะมาบำบัดมากขึ้น และรับผิดชอบต่อพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บำบัดอย่างจริงจัง

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ทำความรู้จัก “ล้านช้าง” ขบวนรถไฟหัวกระสนมิตรภาพ จีน-ลาว