สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก กำลังเร่งสั่งยาโมลนูพิราเวียร์ ของเมอร์ค บริษัทยาสหรัฐ เพื่อรักษาโควิด-19
สถานะของยาโมลนูพิราเวียร์ ขณะนี้กำลังรอให้สำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ถ้าหากผ่านการอนุมัติจะเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโควิด-19 ชนิดแรกที่เป็นยาแบบรับประทาน
“แอร์ฟินิตี” เปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้มี 10 ประเทศ ที่ได้ลงนามข้อตกลง หรือกำลังเจรจาจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ โดยในจำนวนนี้มี 8 ประเทศ อยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศมีการจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนล่าช้า
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลว่า การเร่งซื้อตัวยาโมลนูพิราเวียร์ของประเทศในเอเชีย อาจซ้ำรอยกับการจัดซื้อวัคซีนที่ผ่านมา ซึ่งประเทศที่รวยกว่าจะได้รับยาไปก่อน ขณะที่ประเทศที่ยากจนกลับไม่ได้ยา
“ราเชล โคเฮน” ผู้อำนวยการ Drugs for Neglected Diseases Initiative ประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ต้องไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นกับวัคซีน ประเทศรายได้ต่ำอาจเสียเปรียบเมื่อต้องใช้ยา หากโมลนูพิราเวียร์ได้รับอนุมัติให้ใช้ ประเทศต่างๆ จำต้องตัดสินใจจะใช้ยากับคนกลุ่มใดก่อน คนที่มีอาการ หรือคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ซึ่งการแบ่งแยกดังกล่าวอาจเป็นปัญหาในบางประเทศ
ขณะที่กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน ให้ความเห็นว่า า ยาโมลนูพิราเวียร์ มีแนวโน้มช่วยชีวิตคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมากเท่าที่ควร และมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด แต่การเข้าถึงยาอาจดูเป็นเรื่องที่ลำบากมากขึ้น
“ลีนา เมนกาเน” หัวหน้าฝ่ายรณรงค์การเข้าถึงยาประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน กล่าวว่า เมอร์คเป็นผู้คุมสิทธิบัตรและสามารถตัดสินใจได้ว่าประเทศใดจะได้ผลิตในราคาเท่าใด ดังนั้นควรยกเลิกสิทธิบัตรยาเพื่อเปิดให้ประเทศทั่วโลกสามารถผลิตโมลนูพิราเวียร์ได้ ซึ่งจะทำให้แนวโน้มที่ยาดังกล่าวจะช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกมีมากขึ้น