กรมสุขภาพจิต เผย เด็กเครียดเพิ่มขึ้นจากการปิดโรงเรียนและเรียนออนไลน์ แนะครอบครัวและโรงเรียนเปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจรับวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงเรียน
ผลการสำรวจ Mental Health Check-in ข้อมูลสะสม ณ วันที่ 19-25 ก.ย.64 โดยมีผู้ตอบแบบประเมิน 2,045 ราย พบเด็กมีความเครียดสูงถึงร้อยละ 29.29 ภาวะหมดไฟในการเรียนร้อยละ 16.67 ซึ่งสูงกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3 เท่า
บางรายมีการเรียนรู้ถดถอย ปัญหาด้านอารมณ์จิตใจส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่ได้ไปเรียนหรือมีสังคมปกติตามวัย พบภาวะติดเกม ติดโทรศัพท์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตเด็กทุกช่วงวัย จากการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ โดยพบปัญหาทั้งในด้านพฤติกรรม อารมณ์ ทักษะสังคม และการเสียโอกาสในการเรียนรู้เป็นอย่างมากจากการที่ไม่ได้ไปโรงเรียนตามปกติ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการติดเชื้อโฏควิด-19 ของเด็กจากสมาชิกในครอบครัว ตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.-ส.ค. 64 เป็นจำนวนสะสมถึง 114,039 ราย” พญ.อัมพร เบญพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวแสดงคามคิดเห็น
ดังนั้นด้วยจำนวนการติดเชื้อในเด็กที่สูง จึงจำเป็นต้องพิจารณาเร่งการฉีดวัคซีนในภาวะฉุกเฉินในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ซึ่งอาจสร้างความไม่สบายใจกับเด็ก ผู้ปกครองและครู การสื่อสารทำความเข้าใจข้อมูลวัคซีนและความเสี่ยง
รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองและเด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจึงมีความสำคัญอย่างมาก เด็กควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเลือกรับวัคซีนหรือไม่ หลังจากได้รับข้อมูลรอบด้าน โดยคำนึงถึงประโยชน์และผลข้างเคียง
หากเด็กมีความกังวลหรือกลัวการฉีด ควรเปิดโอกาสให้เด็กสามารถรอ และเลือกรับวัคซีนเมื่อพร้อม ประเด็นสำคัญคือ เราต้องไม่นำประเด็นวัคซีนมาเป็นการตีตราหรือล้อเลียนกัน (bully) ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ตัดสินใจไม่ฉีดหรือเลือกฉีดวัคซีนชนิดต่างกัน ไม่ควรเป็นประเด็นกีดกันไม่ให้เด็กได้รับการศึกษาตามที่ควรจะเป็น
ในกรณีที่เด็กๆ มีปัญหาความกังวลใจหรือความเครียด สามารถขอรับการปรึกษาทางช่องทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ fb: 1323 ปรึกษาสุขภาพจิตได้