กรุงเทพฯ ติดอันดับ เมืองหลวงสุดย่ำแย่ ด้านสมดุลการใช้ชีวิต-พื้นที่สีเขียว

กรุงเทพฯ ติดอันดับ เมืองหลวงสุดย่ำแย่ ด้านสมดุลการใช้ชีวิต-พื้นที่สีเขียว


เว็บไซต์ getkisi เผยการจัดอันดับเมืองที่มี Work-life balance สร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวดีที่สุดปี 2564 จาก 50 เมืองทั่วโลก โดยเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ คว้าแชมป์เมืองสมดุลแห่งการใช้ชีวิตได้รับ 100 คะแนนเต็ม และเมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ เป็นอันดับ2 ที่คะแนน 98.6 คะแนน

 

ด้าน กรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับรองสุดท้าย ของเมืองที่มีสมดุลการใช้ชีวิตสุดย่ำแย่ โดยมี Work-life balance เพียง 51.3 คะแนน มีสัดส่วนประชากรทำงานหนักมากถึง 20.2% ซึ่งมีเพียงกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เท่านั้นที่มีอันดับแย่กว่า โดยมีแค่ 50 คะแนน

การวัดผลนี้ มีเกณฑ์การรวบรวมคะแนนจาก 4 ส่วน ประกอบด้วย การทำงานหนัก (Work Intensity) สภาพสังคมและสถาบัน (Society and Institutions) ความน่าอยู่ของเมือง (City Livability) และสุดท้าย ผลกระทบจากโควิด (Covid Impact)

ขณะที่การจัดอันดับเรื่อง Outdoor Space ซึ่งวัดผลจากการมี “พื้นที่สีเขียว” (Green Space) สภาพอากาศ และองค์ประกอบอื่น ปรากฏว่า กทม. รั้งอับดับท้ายสุดโดยมีคะแนนเพียงแค่ 50 คะแนนเท่านั้น

นอกจากนี้ กทม.ยังถูกจัดอยู่ในอันดับ 3 ของเมืองที่มีประชากรทำงานหนักมากเกินไป (Overworked) โดยมีอันดับ 1 คือ ฮ่องกง และอันดับที่ 2 สิงคโปร์

จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร (22 ก.ค. 63) กทม.มีพื้นที่สีเขียว 6.99 ตร.ม.ต่อประชากร 1 คน ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตร.ม.ต่อคน
โดยตามแผนการพัฒนา “มหานครสีเขียว” ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 กทม.จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตร.ม.ต่อคน

ขณะที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม และ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลกรุงเทพมหานคร พบว่าปัจจุบัน ( 30 ก.ย.64) กทม.มีสวนสาธารณะ (7 ประเภท) รวมทั้งหมด 8,810 พื้นที่รวม 25,541 ไร่ 220.48 ตร.ว. หรือ 40,866,481.92 ตร.ม. จำนวนประชากร 5,588,222 คน (ตามทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝง)

อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 7.31ตร.ม. ต่อคน แต่หากนับเฉพาะสวนสาธารณะหลักและรอง และพื้นที่สีเขียวที่สามารถใช้ได้จริงแล้วอาจเหลือเฉลี่ยเพียง 1.20 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานจริงกว่า 87%

ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่สามารถใช้ได้จริงใน กทม.จึงอาจเป็นการแบ่งเบาปัญหาเรื่องสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงานหนักได้ไม่มากก็น้อย เพราะหากเมืองน่าอยู่ ความสุขก็อาจเกิดขึ้นได้จากการมีพื้นที่สีเขียวให้ได้พักผ่อนและคลายความตึงเครียดจากการทำงาน

 

 เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

WHO เตือน “มลพิษทางอากาศ” คร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน